มโนให้เป็นแล้วชีวิตจะดี รู้จัก Lucky Girl Syndrome ที่เชื่อว่ามองโลกเชิงบวกแล้วจะเจอแต่เรื่องดี ๆ 

กว่าจะใช้ชีวิตหมดไปแต่ละวัน เราใช้เวลาจัดการกับปัญหา 108 อย่างที่เข้ามา เราจึงใช้ ‘ความคิด’ พยุงสุขภาพจิตให้ผ่านพ้นเรื่องราวต่าง ๆ ไปได้ในแต่ละวัน

ช่วงนี้ใน TikTok เกิดแนวคิด “Lucky Girl Syndrome” ที่เชื่อว่าการพร่ำบอกตัวเองอยู่เสมอว่า “เราเป็นคนโชคดี” “เราจะผ่านเรื่องราวทุกอย่างไปได้อย่างแน่นอน” จะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง 

บน TikTok มีผู้เข้ามาแชร์เรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนวิธีการคิดเป็นแบบ “ฉันเป็นคนโชคดี” วิดีโอที่ใช้ #LuckyGirlSyndrome มียอดวิวรวมทั้งสิ้นกว่า 195 ล้านวิว ในวิดีโอมีทั้งคนที่คิดในแง่ดีแล้วสามารถซื้อบ้านได้ครั้งแรกในชีวิต ได้ขึ้นเงินเดือน ได้เดินทางท่องเที่ยว

ที่จริงแล้วแนวคิดที่จะเปลี่ยนความคิดไปมองโลกในแง่ดีมีมาทุกยุคสมัย ทุกช่วงอายุคน พิสูจน์ได้ง่าย ๆ แค่เดินเข้าไปในร้านหนังสือแล้วดูว่ามีหนังสือที่บอกให้เราคิดในแง่บวกกี่สิบเล่มหรือเมื่อเปิด YouTube ก็จะเห็นคลิปสอนวิธีคิดบวกเป็นสิบวิดีโอ

แค่คิดว่าชีวิตจะดี ทำให้ชีวิตดีจริงไหม?

Laura Galebe ครีเอเตอร์วัย 22 ปี โพสต์วิดีโอลงใน TikTok เล่าว่า การพูดถึงเรื่องดี ๆ ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เธอประสบความสำเร็จในอาชีพการเป็นครีเอเตอร์

Tam Kaur ครีเอเตอร์อีกคนหนึ่งวัย 22 ปีเล่าว่า เธอกำลังรู้สึกไม่ดีเรื่องงานก่อนที่จะเห็นเทรนด์ Lucky Girl Syndrome และเริ่มเปลี่ยนความคิดจนทำให้ถูกจองตัวไปถ่ายแบบและมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ด้วย

หลักการของ Lucky Girl Syndrome เป็นการคิดถึงอนาคตและเส้นทางชีวิตของตัวเองในแง่บวกและใช้คำพูดเชิงให้กำลังใจเพื่อยืนยันกับตัวเองว่าในที่สุดจะมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้นกับชีวิตเรา Lucky Girl Syndrome ไม่ใช่กระบวนการมโนขึ้นมาลอย ๆ หรือการเพ้อฝันไปวัน ๆ เพราะเกิดขึ้นจากหลักการเดียวกับที่นักจิตวิทยาใช้ในการบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT

วิธีการบำบัดแบบ CBT เริ่มต้นจากการให้ผู้เข้ารับการบำบัดเรียนรู้และทำความเข้าใจความคิดในแง่ลบของตัวเองก่อนว่าความคิดไม่ดีต่อตัวเองและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเองอย่างไรบ้างเพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนวิธีคิดในเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้นซึ่งขั้นตอนนี้จะทำแบบเดียวกับ Lucky Girl Syndrome

การปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้มองโลกในแง่ดีมากขึ้น เพียงแค่การพูดว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นไม่เพียงพอ แต่ผู้ทำจะต้องเชื่อมโยงความรู้สึกให้ตัวเองรู้สึกเหมือนกับที่พูดให้ได้ Lucky Girl Syndrome จึงจะได้ผล อย่างเช่น ถ้าหากเราบอกตัวเองอยู่ตลอดว่าเราจะประสบความสำเร็จ แต่เราไม่ได้รู้สึกหรือเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จได้จริง ๆ การพร่ำบอกตัวเองทุกวันก็จะไม่เกิดผลอะไรเลย

งานวิจัยที่มีชื่อว่า Self-Affirmation Theory and the Science of Well-Being ของ Andrew J. Howell ที่ตีพิมพ์ในปี 2016 เผยว่า การยืนยันกับตัวเอง (Self-Affirmation) ว่า “ฉันเป็นคนโชคดี” หรือ “เรื่องดี ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับฉัน” สามารถช่วยสร้างความมั่นใจและความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) ทำให้รู้สึกว่าควบคุมตัวเองได้ ช่วยลดความเครียด เพิ่มความสุข สร้างแรงจูงใจ และช่วยทำให้ความจำดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การยืนยันกับตัวเองว่าเรากำลังจะประสบพบเจอกับเรื่องราวดี ๆ ในไม่ช้าไม่ได้ช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรม และทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ภายในชั่วข้ามคืน เพราะต้องอาศัยการทำเป็นประจำทุกวันโดยอาจจะเป็นการบอกตัวเองหน้ากระจก เขียนใส่กระดาษโน้ต หรือแม้แต่การพูดเน้นย้ำซ้ำ ๆ กับตัวเองในหัว

นอกจากนี้ การเน้นย้ำกับตัวเองเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติต่อตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยการเอาใจใส่และดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่นด้วย อย่างการตั้งเป้าหมาย การจินตนาการภาพความสำเร็จมากกว่าจินตนาการถึงสิ่งที่เลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ไปจนถึงการฝึกหายใจเข้า-ออกเพื่อให้มีสมาธิและจัดการกับสถานการณ์ในชีวิตได้ดีขึ้น

ยอมรับความจริงบ้าง อย่าให้ความคิดเชิงบวกกลายเป็น Toxic Positivity

ความคิดก็เหมือนดาบสองคม การคิดเชิงบวกช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชีวิตราบรื่นขึ้นได้ฉันใด การหมกมุ่นพยายามจะคิดบวกทั้งที่ตัวเองไม่ไหวก็ส่งผลได้เลวร้ายได้ฉันนั้น

Carolyne Keenan นักจิตวิทยากล่าวว่า Lucky Girl Syndrome ตั้งต้นมาจาก Law of Assumption คือ เชื่อว่าสิ่งใดก็ตามที่เราคิดเกี่ยวกับตัวเรา ผู้อื่น หรือสถานการณ์รอบตัว สิ่งนั้นจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ ซึ่งความคิดแบบนี้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน

ในชีวิตมีสถานการณ์หลายอย่างที่เราไม่สามารถคิดหาทางออกได้ จึงเป็นไปได้ว่าการคิดบวกก็อาจใช้การไม่ได้ ซึ่งความคิดของ Keenan สอดคล้องกับนักวิจารณ์เทรนด์นี้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ หมายความว่า คิดเชิงบวกได้ในบางเรื่อง บางเรื่องที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ หรืออยู่เหนือความควบคุมมากไป อาจจะกลายเป็นเพ้อฝันไปจนถึง Toxic Positivity

ตัวอย่างเช่นญาติป่วย หรือแม้แต่ปัญหาร้ายแรงกว่านั้น เช่นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการเหยียดสีผิว ความบกพร่องด้านร่างกาย การคิดบวกอาจไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำให้อะไรดีขึ้น มากกว่าจะลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงจัง

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “Confirmation Bias” พูดง่าย ๆ ก็คือ การคิดในแง่บวกมักจะทำให้เราคิดเข้าข้างตัวเอง Keenan ยกตัวอย่างสถานการณ์เวลาเราเข้าสัมภาษณ์งาน หากเรายังเตรียมตัวไม่พร้อม เรามีโอกาสที่จะสังเกตเห็นข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเห็นว่าผู้สัมภาษณ์ไม่ค่อยตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด แต่หากเราเตรียมตัวไปพร้อมและบอกกับตัวเองว่า “ฉันจะได้งานนี้อย่างแน่นอน” พอผู้สัมภาษณ์เพียงแค่พยักหน้า เราก็จะคิดเข้าข้างตัวเองไปว่าผู้สัมภาษณ์พึงพอใจในตัวเรา

การคิดบวกมากเกินไปอาจทำให้เกิด Toxic Positivity ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าไม่ว่าเราจะเจอเหตุการณ์อะไรก็ควรต้องคิดบวกไว้ก่อน แต่ปัญหาคือเวลาเราคิดบวก เราไม่ได้มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม เพราะยังรู้สึกค้างคา เครียด และกังวลกับสิ่งไม่ดีที่เพิ่งเกิดขึ้น 

การพยายามคิดบวกจะกลายเป็นการฝืนตัวเองและนำไปสู่การพยายามกักเก็บอารมณ์เชิงลบเอาไว้ ทำให้แม้ภายนอกเราจะดูมีความสุขแต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้มีความสุขจริง ๆ แค่เหมือนระเบิดเวลาที่รอให้อารมณ์ด้านลบที่เราพยายามกดเอาไว้ระเบิดออกมาในที่สุด

ความเชื่อมั่นในตัวเองและการยืนยันกับตัวเองว่าเราเป็นคนเก่ง เราเป็นคนโชคดี เป็นหลักทางจิตวิทยาที่ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เรามีชีวิตดีขึ้นได้จริง แต่การบังคับตัวเองให้คิดในเชิงบวกให้ได้แม้ตัวเองจะไม่พร้อมก็อาจทำให้เครียดและกดดันมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เลยมีแค่ตัวเราที่จะสามารถตอบตัวเองได้ว่าคิดบวกแค่ระดับไหนจะไม่ลำบากตัวเองมากเกินไป 

ที่มา – BBC, CNET, The Washington Post

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา