นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบเครื่องดื่มวิตามินซี 47 ตัวอย่าง พบว่า 8 ตัวอย่างไม่มีวิตามินซีเลย

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการทดสอบเครื่องดื่มผสมวิตามินซี พบว่า เครื่องดื่มผสมวิตามินซี 8 ใน 47 ตัวอย่าง ทดสอบแล้วไม่พบวิตามินซี ในขณะที่อีกหลายยี่ห้อพบปริมาณวิตามินซีน้อยกว่าที่ระบุในฉลาก

ภาพจากนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้ความนิยมในการบริโภคเครื่องดื่มแนวใหม่ของคนไทยเปลี่ยนจากน้ำที่มีรสชาติหวาน มีปริมาณน้ำตาลสูง มาสู่เครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสุขภาพ ดื่มแล้วได้ประโยชน์ ตามเทรนด์กระแสการดูแลสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่มีการผสมวิตามินที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย

จนทำให้นำ้ดื่มผสมวิตามินกลายเป็นตลาดที่เติบโตสูง ด้วยอัตราการเติบโตกว่า 75.1% มูลค่า 1,203 ล้านบาท แม้จะยังมีสัดส่วนเพียง 6.7% ของตลาดน้ำดื่มทั้งหมด แต่ด้วยอัตราการเติบโตที่สูง จึงดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหม่นำสินค้าน้ำดื่มผสมวิตามินเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ไม่พบวิตามินซี

อย่างไรก็ตามนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำการทดสอบเครื่องดื่มผสมวิตามินซีในท้องตลาดจำนวน 47 ตัวอย่าง ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ พบว่าส่วนใหญ่มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามฉลากที่แจ้งไว้ และมีอีก 8 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซีเลย

สำหรับเครื่องดื่มผสมวิตามินซีที่ไม่พบจำนวนวิตามินซีในตัวอย่างเลย มีจำนวน 8 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

    1. ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ขนาด 460 มล.
    2. นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.
    3. มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน ขนาด 48 มล.
    4. มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล.
    5. เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล.
    6. เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร ขนาด 100 มล.
    7. มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล.
    8. ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล.

นอกจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีทั้ง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบวิตามินซีในการทดสอบ ยังพบด้วยว่าเครื่องดื่มผสมวิตามินซีส่วนใหญ่ที่ทำการทดสอบ มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ในฉลาก 33 จาก 47 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ

โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำว่าให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานวิตามินซีจากผัก หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนทดแทน

ที่มา – นิตยสารฉลาดซื้อ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา