Vision 2020 กับรายได้ 3 แสนล้านบาท และการสยายปีกในอาเซียนของ ThaiBev

อีกหนึ่งอาณาจักรธุรกิจของไทยที่ขยายอย่างต่อเนื่องคือ ThaiBev เพราะมีการวางแผนระยะยาวตั้งแต่ปีก่อน หรือ Vision 2020 (พ.ศ.2557 – 2563) ที่ประกอบด้วยรายได้ และกำไรต้องเติบโตอย่างน้อย 12 – 16% ทุกปี พร้อมกับเพิ่มความแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการควบรวมกิจการ หรือ M&A ในธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แผนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง Brand Inside จะพามาอัพเดทไปด้วยกัน

tapana

3 ปีแรกขอฐานแน่น 3 ปีหลังก็ฝันหน่อยๆ

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ThaiBev เล่าให้ฟังว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มก็ทำงานกันหนัก เพราะต้องการให้ 3 ปีแรกของแผน Vision 2020 ต้องทำให้ฐานของทุกหน่วยธุรกิจที่แข็งแกร่งก่อน ผ่านการใช้ 5 กลยุทธ์คือ เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ, มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์, ตราสินค้าที่โดนใจ, การขาย และการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญต้องมีความเป็นมืออาชีพในการทำตลาด จนในปีแรกทางกลุ่มมีรายได้ 1.39 แสนล้านบาท (ม.ค. – ก.ย. 2559) เพิ่มขึ้น 14.8% หรือราว 18,000 ล้านบาท และกำไรก็เติบโตกว่า 34%

“ตอนนี้รายได้ของ ThaiBev ยังมาจากในประเทศเป็นหลัก มีต่างประเทศเพียง 4% เท่านั้น เมื่อไม่นับรวมรายได้จาก F&N ที่อยู่ระหว่างจัดการเรื่องหุ้นหลังควบรวมกิจการ และมองว่าตลาดไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอยู่ แม้ไตรมาส 4 จะหดตัวเล็กน้อยตาม Mood ของผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงโศกเศร้า แต่ปี 2560 น่าจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม โดยปีที่แล้ว ThaiBev เริ่มต้น Vision 2020 ด้วยการ Relunch เบียร์ช้าง และปีนี้ก็มีการขยับธุรกิจมากมาย และมองว่าปี 2563 รายได้ ThaiBev ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากตอนนี้ หรือราว 3 แสนล้านบาท จะบอกว่าฝันหน่อยๆ ก็ได้”

ทีมผู้บริหาร ThaiBev
ทีมผู้บริหาร ThaiBev

ลงทุน 4,000 ล้านบาทเพิ่มศักยภาพทุกทาง

ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโต Thaibev เตรียมงบลงทุนไว้อีก 4,000 ล้านบาทในปี 2560 หลักๆ ใช้กับการซ่อมบำรุงเครื่องจักร และการขยายโรงงาน กับจุดกระจายสินค้าที่ต้องครบ 19 แห่งภายใน 3 ปี เพราะต้องการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่ง แต่การลงทุนเรื่องการตลาด และพัฒนาบุคลากรก็ยังมีอย่างต่อเนื่องตาม 5 กลยุทธ์ข้างต้น โดยงบประมาณทั้งหมดนี้ยังไม่รวมกับการใช้เพื่อควบรวมกิจการ หรือ M&A เพราะไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจน แต่ก็มีการศึกษาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเข้าไปควบรวมอยู่ตลอด

พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ Non-Alcohol ที่ปัจจุบันคิดเป็นรายได้ 30% ของทางกลุ่ม โดยต้องการให้เป็น 50/50 เมื่อเทียบกับกลุ่ม Alcohol และยังเตรียมขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านเต็มรูปแบบ เพราะต้องการขึ้นเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุด และมีผลกำไรสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทไปเปิดบริษัทย่อยที่ประเทศเวียดนามแล้ว พร้อมเตรียมสร้างโรงงานบรรจุที่นั่น เพื่อทำตลาดสุราสี และยังมีประเทศเมียนมา กับฟิลิปปินส์ที่กำลังหาพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

rock

รอ Mood ฟื้นบูมตลาดทุกผลิตภัณฑ์

ฐาปน ย้ำว่า ต้นปี 2560 จะกลับมาทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยเฉพาะการทำตลาดเครื่องดื่มโซดาภายใต้แบรนด์ Rock Mountian ที่วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนก.ย. แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการทำตลาด จึงชะลอออกไปก่อน นอกจากนี้ยังอัดการตลาดในธุรกิจ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของเบียร์ช้างที่เติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปรับบรรจุภัณฑ์ และรสชาติใหม่ เพื่อมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ภายในปี 2563 ผ่านส่วนแบ่งราว 48% ของตลาด จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 38% ตามหลังเบียร์ลีโอที่เป็นเบอร์หนึ่งที่มีส่วนแบ่ง 53%

แต่อีกเรื่องที่ ThaiBev ให้ความสำคัญคือบุคลากร เพราะปัจจุบันมีคน Generation Y อยู่ 45% ของบริษัทที่มีราว 40,000 คนทั่วโลก ถือว่าเยอะมาก ดังนั้นการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และใช้นโยบาย Limitless Opportunities เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสมัคร พร้อมอยู่กับองค์กรเป็นเวลานาน ในทางกลับกันด้วยตัวองค์กรที่มีความเป็น Seniority สูง จึงต้องให้ข้อมูลกับพนักงานเกี่ยวกับการเคารพผู้ใหญ่ ทำให้พนักงานรุ่นใหม่ของ ThaiBev จะเก่ง ผ่านการให้โอกาสที่หลากหลาย และมีความเคารพที่ต่างจาก Generation Y คนอื่น

สรุป

การสยายปีกขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจเครื่องดื่มของ ThaiBev คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการเติบโต และการเดินเกมของธุรกิจ ที่สำคัญการควบรวมกิจการ F&N ก็จะเสร็จสิ้นในปี 2560 ทำให้รายได้หลายหมื่นล้านจะถูกจดเข้ามาในบัญชีทันที และที่น่าจับตามองคือ หลังจากนี้ ThaiBev จะเข้าไปควบรวมอะไรอีกบ้าง เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และขยายอาณาจักรไปทั่วอาเซียนได้ตามแผน Vision 2020

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา