ฟัง 3 แนวคิดจาก VC ที่ลงทุนใน Startup ไทย: 500Tuktuks, Invent และ CyberAgent Ventures

สำหรับ Startup หน้าใหม่ นี่คือเรื่องที่ต้องรู้ทันที สำหรับ Startup หน้าเดิมก็ควรทบทวน เมื่อ 3 VC ที่ลงทุนใน Startup ไทยเป็นหลัก คือ ธนพงษ์ ณ ระนอง จาก Invent, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ จาก 500Tuktuks และ Ookbee ปิดท้ายด้วย ธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ จาก CyberAgent Ventures ออกมาบอกถึงแนวคิด มุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนและการเริ่มต้นทำ Startup ในงาน “ปุ๋ยเร่งโต” ของสมาคม Startup

moo-ookbee
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ // ภาพจาก Facebook

Co-founder ทะเลาะกันนำไปสู่ fail story

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือ หมู Ookbee ผู้ดูแลการลงทุนของ 500Tuktuks ที่ลงทุนไปแล้วกับ 30 Startup ในไทย โดยเน้นที่ระดับ Seed Stage หรือเรียกว่าในจังหวะที่ยังตั้งไข่ ความเสี่ยงสูง แต่ถ้าดูแล้วมีโอกาสที่ดีก็ลงทุนทันที ด้วยเม็ดเงินไม่เกิน 300,000 เหรียญสหรัฐ บอกว่า ด้วยความที่เป็นนักลงทุน ดังนั้น 500Tuktuks จะดูเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก ต้องมีการเติบโต มีโอกาสที่จะ Exit และอยู่ในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ กองทุน 500 Startups (และในเครือ 500 ทั้งหมด) เป็นกองทุนที่ลงทุนสูงที่สุดในโลก

สำหรับในประเทศไทย ถ้า หมู และ กระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล) บอกว่า Yes ส่วนใหญ่ก็จะมีการลงทุนเกิดขึ้น แต่ Startup ต้องเป็นระดับ Seed Stage คือ มี Product เกิดขึ้น เริ่มต้นให้บริการแล้ว จะมีแค่ไอเดียไม่ได้ และจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันไปอีกประมาณ 5 ปีเป็นอย่างน้อย เป็นการลงทุนระยะยาว

คำเตือนหนึ่งที่จะทำให้ Startup มีปัญหาคือ co-founder ทะเลาะกัน มีหลายรายทั่วโลกที่แนวโน้มไปได้ดี โอกาสเติบโตสูง ทำกำไรได้แน่นอน แต่ co-founder ทะเลาะกัน นอกจากงานจะหนัก เหนื่อย เครียด พอทะเลาะกันทุกอย่างจะทวีคูณ และ fail ทันที

invent_tn_forbrandinside
ธนพงษ์ ณ ระนอง

โกหก ปิดบังข้อมูลเมื่อไร อนาคตบนถนนนี้จบทันที

ธนพงษ์ ณ ระนอง หรือพี่มด แห่ง Invent หน่วยธุรกิจที่ดูแลเรื่องการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้กับ Intouch แตกต่างออกไปเพราะเป็น Corporate VC จะเน้นลงทุนใน Startup ที่ธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจในเครือของ Intouch เป็นหลัก แต่ไม่ต้องการเสี่ยงมากนัก จึงลงทุนในระดับ Seris A คือ ต้องมีรายได้ มีตลาดที่ชัดเจนแล้ว ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 10 ราย และมีบางราย Exit ได้แล้ว

สิ่งที่พี่มดแนะนำ Startup คือ ต้องเรียนรู้ว่า VC แต่ละรายมีบุคลิกลักษณะอย่างไร เน้นลงทุนในระดับไหน และมีเป้าหมายอย่างไร จากนั้นเข้าหาให้ถูกต้อง ของ Invent เน้น Startup ที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Intouch ที่มีรายได้และมีลูกค้าแล้ว ความเสี่ยงจะน้อยกว่า Seed Stage แต่ก็ต้องลงเม็ดเงินมากกว่า

“Startup ต้องเลือก VC ให้ตรงกับระดับและเป้าหมายของตัวเอง และต้องจริงจัง จริงใจ รอบรู้ เอาข้อมูลและตัวเลขจริงๆ มานำเสนอ อย่าโกหก หรือสร้างตัวเลขเกินจริง เพราะ VC ผ่านประสบการณ์มาเยอะ ถ้าโกหกตั้งแต่เริ่มต้น รับรองว่าเส้นทางนี้จบทันที”

thanachart-cyberagent
ธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ // ภาพจาก Facebook

เรื่อง คน สำคัญที่สุด เคมีต้องตรงกัน

ธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ จาก CyberAgent ที่เป็น VC ที่มีสำนักงานอยู่ทั่วโลก แต่ลงทุนใน Startup ทุกประเภทที่น่าสนใจ ในระดับ Pre-Series A มูลค่าประมาณ 100,000 – 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้ามาดูประเทศไทย 3 ปี ลงทุนกับ Startup ไปแล้ว 8 ราย บอกว่า การเลือกลงทุน จะดูทีม Startup เป็นหลักก่อน เพราะ ธุรกิจเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ต้องคิดเรื่องใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา และเคมีต้องตรงกันกับ CyberAgent ด้วย

“เรื่อง คน เป็นเรื่องสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด ธุรกิจไม่ได้เติบโตด้วยคนเก่งเสมอไป แต่ต้องมีเคมีที่ตรงกัน สามารถทำงานร่วมกัน แนะนำกันได้ และธุรกิจที่ทำต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม”

startup-vc-2

ทำไม Startup ต้องพึ่งพา VC

การทำธุรกิจของ Startup แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ สิ่งที่ชัดเจนคือ Startup ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารมาทำธุรกิจได้ แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นธุรกิจที่ต้องเติบโตมากๆ และเร็วๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบ และรายอื่นๆ จะได้ copy ไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้การลงทุนจาก VC

100% ของ Startup ในโลกที่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด ได้รับเงินจาก VC ทุกราย เพราะเป็นทั้งเม็ดเงินอัดฉีด และยังเป็นพันธมิตรในการขยายธุรกิจ เช่น 500tuktuks ที่มีเครือข่ายทั่วโลก หรือ CyberAgent ที่มีสาขาทั่วโลก

และกับคำถามสุดท้ายที่หลายคนอยากรู้ว่า จะทำอย่างไรให้ VC สนใจ Startup ซึ่งทั้ง 3 ราย บอกเหมือนกันหมดว่า มี Startup หลายร้อยรายที่ติดต่อเข้ามา ถ้าข้อมูลแน่น ถูกต้อง และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต VC จะนัดเจอเพื่อพูดคุย ซึ่งมีประมาณ 10 รายต่อเดือน และจะมีการลงทุนจริงๆ เพียง 1-2 ราย หรือน้อยกว่านั้น

คำแนะนำสุดท้ายคือ ต้องหน้าด้าน ทำทุกช่องทางเพื่อให้ได้เจอ และ “จิก” เข้ามาเยอะๆ  เพราะ VC ขี้ลืม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา