กรณีศึกษาสหรัฐ: โควิดทำคนเกษียณมากสุดในรอบทศวรรษ เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ง่าย

โควิดทำคนตัดสินใจเกษียณ 3 ล้านคนในสหรัฐ สูงสุดในรอบศตวรรษ แถมตำแหน่งงานยังว่างจำนวนมาก หลังจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวได้อย่างร้อนแรงเท่าที่คิด

us aging society retirement

ผู้คนในสหรัฐตัดสินใจเกษียณ 3 ล้านคน ช่วงโควิด มากที่สุดในรอบทศวรรษ

ข้อมูลระบุว่า 6 เดือนแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ตัดสินใจเกษียณอายุการทำงานประมาณ 3 ล้านคนในสหรัฐ สัดส่วนประชากรเกษียณอายุเพิ่มขึ้นจาก 18.5% เป็น 19.5% และนี่คือการออกจากตลาดแรงงานของผู้คนที่เร็วที่สุดในรอบศตวรรษ

หากถามว่าแล้วตัวเลขนี้สำคัญอย่างไร ก็ต้องตอบว่าจะทำให้ความหวังในการกลับมาจ้างงานเต็มที่มีความท้าทาย ผลก็คือ เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวได้อย่างร้อนแรงเท่าที่คิด แม้หลายเมืองจะกลับสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานชี้ว่ามีสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการที่ทำให้คนตัดสินใจลาออก

  1. บางคนตัดสินใจว่าจะเกษียณอายุในอนาคตเกษียณเร็วกว่ากำหนด เพราะมองว่าเศรษฐกิจในอนาคตไม่ดีนัก ไม่คุ้มที่จะสละพลังงานในช่วงท้ายเพื่อเงินอันน้อยนิด
  2. บางคนคือคนที่ก่อนหน้านี้ยืดการเกษียณออกไปเพราะเศรษฐกิจร้อนแรง คุ้มค่าที่จะสละพลังงานช่วงท้ายเพิ่มเติมเพื่อเงินเป็นกอบเป็นกำ พอการระบาดมาถึงจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเกษียณอายุเสียที

เห็นได้ชัดว่าตลาดแรงงานไม่ได้ดึงดูดพวกเขาอีกต่อไป เพราะแม้ช่วงนี้จะมีตำแหน่งเปิดรับมากที่สุดในรอบหลายปี แต่คนกว่า 3 ล้านคนยังเลือกจะเดินออกจากตลาดแรงงานในท้ายที่สุด

United States Jobless New York City
ภาพจาก Shutterstock

การเกษียณอายุครั้งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจหลังโควิดเร่งเครื่องฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

การที่ผู้คนออกจากตลาดแรงงานมหาศาลกระทบเศรษฐกิจที่พร้อมจะเร่งเครื่องฟื้นตัวหลังโควิด-19 ไม่น้อย เพราะในขณะที่ผู้คนซึ่งเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญของระบบเศรษฐกิจพากันเกษียณ ก็ยังมีตำแหน่งงานอีกจำนวนมากที่ว่างอยู่ หากลองดูข้อมูลทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะเห็นได้ชัด

  • ประชากร 3 ล้านคน เกษียณอายุ ในช่วง 6 เดือนแรกของการระบาด
  • มีตำแหน่งงานว่างกว่า 7 ล้านตำแหน่ง ณ ปัจจุบัน จากการประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์

ชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังจะมีช่องว่าที่ยากจะเติมเต็ม นี่คือความท้าทายของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐ หากต้องการลดช่องว่างลงรัฐบาลอาจพิจารณาออกนโยบายจูงใจมากขึ้น เช่น กำหนดค่าแรงให้สูงขึ้น เป็นต้น

ภาพจาก Unsplash

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาระยะใกล้ เพราะในระยะยาวสังคมสูงวัยรออยู่

นี่คือเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากเลย เพราะการมีผู้เกษียณอายุหรือผู้ที่พร้อมเกษียณอายุเยอะ นั่นสะท้อนว่ามีคนสูงวัยในตลาดแรงงานสหรัฐเยอะ 

พูดกันง่ายๆ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นของการก้าวสู่สังคมสูงวัย ที่แม้อาจจะยังไม่รุนแรงเท่าประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ แต่สังคมสูงวัยคือปัญหาที่ต้องวางแผนรองรับกันตั้งแต่เนิ่นๆ ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทั้งนโยบายการคลัง ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงอนาคตของระบบสาธารณสุข

ที่มา – Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา