อเมริกาเคยแบนฝ้ายจากซินเจียงบางส่วน แต่คราวนี้แบนทั้งหมด
เมื่อวานนี้ มีการประกาศจาก U.S. Customs and Boarder Protection (CBP) ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะแบนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฝ้ายและมะเขือเทศทั้งหมดจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในประเทศจีน หลังจากมีหลักฐานมากมายว่าการผลิตในซินเจียงอุยกูร์มีเชื่อมโยงกับ การกดขี่ กักขัง และใช้แรงงานทาส
โดยซินเจียงอุยกูร์ เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการผลิตฝ้ายคิดเป็น 85% ของฝ้ายทั้งหมดในจีน และคิดเป็น 20% ของฝ้ายทั่วโลก การบังคับใช้แรงงานทำให้จีนผลิตฝ้ายออกมาได้ในราคาถูกมาก จึงตีตลาดเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกได้
กระทรวงความมั่นคงแห่งมาติภูมิสหรัฐฯ แถลงว่า “กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิจะไม่ยอมให้มีการบังคับใช้แรงงานทุกประเภทอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ เราจะปกป้องประชาชนสหรัฐฯ และตรวจสอบข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน เราจะป้องกันไม่ให้สินค้าที่ผลิตจากแรงงานทาสเข้ามาในประเทศ และเรียกร้องให้จีนปิดค่าย และหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ก่อนหน้านี้ หลังจากที่สาธารณชนได้รับรู้ถึงกรณีในซินเจียง สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นการแบนฝ้ายจากซินเจียงบางส่วนในเดือนกันยายนและธันวาคมที่ผ่านมา
เขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ถูกควบคุมอย่างเข้มข้นโดยรัฐบาลจีน
ประชาชนในเขตปกครองจนเองซินเจียงอุยกูร์ มีชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม แตกต่างออกไปจากชาวจีนในพื้นที่อิสลาม พวกเขามีชาติพันธุ์ใกล้เคียงกับคนในแถบเอเชียกลาง สืบเชื้อสายจากชาวเติร์ก นับถือศาสนาอิสลาม แต่ถูกรัฐบาลจีนใช้นโยบายกลืนชาติเพื่อทำให้พวกเขาเป็นคนจีนมากขึ้น
มีรายงานจากหลายสำนักว่า จีนบังคับอุยกูร์กว่า 2,000,000 คนเข้าค่ายกักกันโดยอ้างว่าเป็นการฝึกสอนวิชาชีพ แต่ภายในค่ายมีทั้งการบังคับร้องเพลงจีน ปฏิญาณตน ล้างสมอง และท่องคำกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีการใช้ใช้ความรุนแรงและมีการทรมาณเกิดขึ้นมากมาย
การเก็บฝ้ายและการผลิตอื่นๆ ก็เป็นหนึ่งใน “โครงการสอนอาชีพ” ที่มีรายงานว่าคนงานจะต้องทำงานภายใต้สภาวะที่ถูกกดขี่อย่างมาก นี่จึงเป็นที่มาของการแบนฝ้ายและมะเขือเทศจีนที่ผลิตในเขตเซียงเจียงอุยกูร์
บริษัทต้องคิดเรื่องห่วงโซ่การผลิตใหม่
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าสหรัฐฯ นำเข้าเสื้อผ้าที่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงกว่า 1.5 พันล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังไม่รวมการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศทั้งแบบสดและซอสที่ประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่
การแบนอย่างครอบคลุมครั้งนี้ของสหรัฐฯ เป็นสัญญาณเตือนไปยังแบรนด์ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องสวมใส่ ให้ตระหนักถึงจริยธรรมในการผลิตมากขึ้น และปฏิเสธห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานที่ไร้สิทธิมนุษยชน
ปัจจุบัน มีแบรนด์จากหลายประเทศได้ออกมาปฏิเสธตั้งแต่การแบนครั้งแรกๆ ว่าการผลิตสินค้าของแบรนด์ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับซินเจียงอุยกูร์ เช่น Apple, H&M, Nike, และ Kraft Heinz
ที่มา – Washington Post, NYTimes, Aljazeera
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา