สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการแล้ว แต่หลังจากนี้สหราชอาณาจักรยังมีภาระกิจจำนวนมากที่จะต้องเจรจาภายใต้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านหลังจากนี้
สหราชอาณาจักรได้ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อคืนที่ผ่านมา สิ้นสุดการเป็นสมาชิกของ EU นานกว่า 47 ปี นับตั้งแต่ปี 1973 ในขณะที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่าสหราชอาณาจักรพร้อมเดินหน้าต่อ หลังจากที่ Brexit นั้นทำให้การเมืองของอังกฤษนั้นเกิดความปั่นป่วนไปถึง 3 ปี รวมไปถึงการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง
ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปตกลงที่จะยืดเวลาให้อังกฤษ หลังจากที่ บอริส จอห์นสัน ร้องขอให้ยืดเวลาและเป็นการยืดเวลาออกไปจากเดิมตอนแรกคือ 31 ตุลาคม 2019 หลังจากข้อตกลงของนายกรัฐมนตรีอังกฤษถูกปัดตกหลายครั้งและทำให้เขายุบสภาเลือกตั้งใหม่จนชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ประชาชนที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรได้ออกจากสหภาพยุโรป ได้ออกมาแสดงความดีใจที่ Parliament Square (รูปด้านบน) ขณะที่ผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่กับสหภาพยุโรปก็ได้ออกมาแสดงกิจกรรมจุดเทียนด้วยเช่นกัน
ในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนที่จะเกิด Brexit อย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่กับสื่อว่า
นี่คือ “รุ่งอรุณใหม่ของสหราชอาณาจักร” และหน้าที่ของเขาคือรวมพลังของคนในชาติเพื่อเดินหน้าต่อไป เขาเองยังได้กล่าวถึงการนำอำนาจอธิปไตยกลับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมผู้อพยพ เสรีในการค้าระหว่างประเทศ การประมง ฯลฯ เพื่อนำผลประโยชน์เหล่านี้สู่ประชาชนโดยตรง และหลังจากนี้ทุกเดือนเราจะเติบโตจากความมั่นใจไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศและจากนอกประเทศ
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังกล่าวว่าหลังจากการออกจากสหภาพยุโรปแล้วยังเป็นการปลดล็อกศักยภาพของสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง และถ้าหากดูที่ศักยภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก รวมไปถึงกองทัพ ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไรก็จะผ่านไปได้ด้วยความสำเร็จ
อย่างไรก็ดีหลังจากที่สหราชอาณาจักรได้ออกจากสหภาพยุโรปแล้วนั้น นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านที่แท้จริง เพราะในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้จะทำให้สหราชอาณาจักรยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสหภาพยุโรป เช่น การเดินทางเข้าออกในยุโรป เรื่องของการค้า ฯลฯ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม
สิ่งที่สหราชอาณาจักรจะต้องดำเนินการต่ออย่างเร่งด่วนคือ การเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป แต่ถ้าหากเจรจาไม่สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ในปี 2021 สินค้าของสหราชอาณาจักรต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่เสียเปรียบ เพราะว่าจะต้องเสียภาษีศุลกากรภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO)
นอกจากนี้ยังมีภาระกิจที่รัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน จะต้องทำอีกมาก เช่น การเจรจาเรื่องกฎหมาย ด้านความมั่นคง นโยบายการต่างประเทศ ฯลฯ รวมไปถึงนโยบายศุลกากรที่เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ Brexit ได้ยืดเยื้อและคาราคาซังด้วย
ที่มา – BBC, DW, The Guardian, CNBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา