ส่องกลยุทธ์ United Airlines จริงจังด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในช่วงโควิดระบาดหนัก นี่ไม่ใช่แค่ทางรอดแต่เป็นช่องธุรกิจใหม่ที่อาจเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต
เป็นเวลาเกือบ 2 ปี แล้วที่เราได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจการบินเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หลายๆ กลยุทธ์ยังเป็นการดิ้นรนหาทางรอดมากกว่าการปรับตัวเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการหันไปขายอาหาร เช่น ปาท่องโก๋ อย่างการบินไทย หรือหันไปทำธุรกิจบริการ เช่น การจัดงานแต่งงานหรือร้านอาหารบนเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างการหันไปจริงจังใน ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศของ United Airlines ที่สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญยังประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ว่าผู้บริหารระดับสูงถึงกับลังเลที่จะนำเครื่องบางส่วนที่นำไปทำการขนส่งกลับไปให้บริการผู้โดยสารด้วยซ้ำ
เห็นได้ชัดเจนว่านี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่ไปไกลกว่าการเอาตัวรอดแต่สร้างทางเลือกในการทำกำไรใหม่ๆ ได้แม้โควิด-19 จะจบลงในอนาคตก็ตาม
United Airlines กับธุรกิจขนส่งทางอากาศ
หลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 United Airlines ก็เริ่มนำอากาศยานลำตัวกว้าง (หรือ เครื่องบินที่มีช่องทางเดิน 2 แถว ที่เราคุ้นเคยกันดีในการทำการบินระหว่างประเทศ) มาใช้ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ
United Airlines กลายเป็นสายการบินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเรื่องนี้เป็นเพราะ United Airlines คือหนึ่งในสายการบินที่มีอากาศยานลำตัวกว้างมากที่สุดในโลก โดยในช่วง 15 เดือนแรก United Airlines มีเที่ยวบินขนส่งสินค้ากว่า 13,400 เที่ยว และตอนนี้ United Airlines คือสายการบินที่ให้บริการขนส่งทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อย
ด้วยเหตุนี้ United Airlines จึงมีจำนวนการทำการบินขนส่งสินค้าฟื้นตัวกลับมาเท่าก่อนการระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ามองในแง่รายได้ต้องบอกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว อยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ (6.68 หมื่นล้านบาท) ต่อปี เพราะในช่วงเวลาแบบนี้ผู้ผลิตมีความต้องการส่งสินค้าทางอากาศกันมากขึ้น
วิบากกรรมขนส่งทางเรือ โอกาสของขนส่งทางอากาศ
United Airlines มาได้อย่างถูกจังหวะ เพราะตั้งแต่โควิด-19 ระบาด การขนส่งทางเรือก็เจอเคราะห์ซ้ำกำซัดอย่างแท้จริง เพราะแค่การระบาดอย่างเดียวก็ทำให้การขนส่งช้าลงเนื่องจากมาตรการณ์ต่างๆ ถูกยกระดับ
แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะตั้งแต่ปี 2020 การขนส่งทางเรือก็เจอวิบากกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น
- คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
- วิกฤติเรือขวางคลองสุเอซ ที่กีดขวางเส้นทางการเดินเรือยุโรป-เอเชีย
- เดลต้าระบาดในกวางตุ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือสำคัญอย่างท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือกวางโจว (ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันดับ 3 และ 5)
- น้ำท่วมในจีนและยุโรปหลายแห่ง ทำให้ระบบรางที่เชื่อมต่อกับท่าเรือหยุดชะงัก
ด้วยวิกฤติที่เกิดขึ้นกับขนส่งทางเรือซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้ผลิตจึงยอมใช้บริการขนส่งทางอากาศกันมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการขนส่งล่าช้าซึ่งอาจทำให้สินค้าเสียหายและทำให้สายพานการผลิตหยุดชะงักแม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมก็ตาม
ขนส่งทางอากาศไม่ได้เป็นแค่ทางรอด
ดูเหมือนว่า การขนส่งทางอากาศไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจเพื่อเอาตัวรอดชั่วครั้งชั่วคราวของ United Airlines เพราะ Andrew Nocella ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพาณิชย์ของ United Airlines ระบุชัดเจนว่า “เรากำลังหาทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรักษารายได้ของ United Airlines จากตรงนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังจากการระบาดสิ้นสุด”
หลังจากนี้การขนส่งทางอากาศจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเป็นช่องทางรายได้แหล่งใหม่ของ United Airlines เพราะก่อนหน้านี้หลังจากการระบาดเริ่มดีขึ้นจนทำให้มีความต้องการทำการบินเพิ่มขึ้น United Airlines เคยตัดสินใจว่าจะยกเลิกเที่ยวบินขนส่งทางอากาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงอดีต
เพราะล่าสุด Nocella ระบุเองว่าบริษัทได้กลับคำตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย แถมเพิ่งตัดสินใจเพิ่มเครื่องบินชนิด 777-300s เข้าไปในธุรกิจขนส่งทางอากาศอีก 5 ลำ หลังจากพบว่าธุรกิจดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้สูงในปัจจุบัน
ที่มา – QZ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา