UnionPay เปิดผลสำรวจคนไทย 75% นิยมจ่ายเงินด้วย QR Payment

อย่างที่รู้กันว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและธนาคารผลักดัน QR Payment กันอย่างเต็มที่เพื่อสร้าง Cashless Society ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือว่าผลงานในขั้นแรกออกมาน่าพอใจ เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เริ่มใช้งานการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสดกันมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ส่วนสำคัญคือ คนที่ยังไม่เคยใช้ต่างหาก ทำอย่างไรจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเหล่านั้นได้ ทาง UnionPay ได้ศึกษา The Future of Payments – อนาคตแห่งการใช้จ่าย ซึ่งจัดทำโดยยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในไทย อายุระหว่าง 18 – 65 ปี จำนวน 400 คน ผลสำรวจบอกว่า คนไทยที่ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือ 7 ใน 10 คน พร้อมให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสด

Contact Less, QR Code และ P2P มาทุกรูปแบบ

การสำรวรจของนีลเส็นจะหาคำตอบใน 4 ประเด็นหลัก คือ คนไทยมีทัศนคติอย่างไรต่อ สังคมไร้เงินสด, พฤติกรรมการใช้การชำระเงินวิธีต่างๆ, อุปสรรคการใช้ และ มุมมองต่ออนาคต

Vincent Ling รองผู้จัดการทั่วไป UnionPay International South East Asia บอกว่า จากการสำรวจพบว่า 53% ของผ้ตอบแบบสำรวจชำระเงินผ่านมือถือในช่วง 3 เดือนผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ 3.1 แพลตฟอร์ม แปลว่า มีแอพฯ ที่รองรับการจ่ายและมีการใช้งานอย่างน้อย 3 แอพ และ 22% มีการใช้จ่ายทั้งแบบ Contact Less (จ่ายเงินแบบไร้สัมผัส),​ จ่ายผ่าน QR Code และการโอนเงินแบบ P2P (โอนตรงเข้าบัญชี) แปลว่า 1 ใน 4 ของคนไทย (22%) ใช้ทั้ง 3 บริการผ่านมือถือ

แน่นอนว่า การใช้เงินสดยังเป็นที่นิยมมากที่สุด คือ 87% เพราะเป็นส่ิงที่ทุกคนคุ้นเคยและมั่นใจ แต่ความนิยมใน QR Code เพิ่มขึ้นเป็น 75% และการโอนแบบ P2P อยู่ที่ 67% แสดงว่าการยอมรับ และใช้งานเพิ่มขึ้น โดยเป็นนิยมมากกว่า บัตรเครดิตและบัตรเดบิต ซึ่งอยู่ที่ 48% และ 50%

อะไรคือแรงจูงใจ อะไรคืออุปสรรค ของ QR Payment

ผลสำรวจนี้จะบอกได้ว่า ประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้ที่ใช้งานเป็นประจำ 71% บอกว่า พร้อมจะแนะนำให้คนรอบตัวใช้งาน และ 91% พร้อมที่จะสอนการใช้ด้วย โดยประโยชน์ที่จูงใจให้มีการใช้งาน คือ ราคาถูก, สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงไม่ต้องพกเงินสดหรือบัตรอื่นๆ ให้ยุ่งยาก ไม่ต้องรอเงินทอน

ขณะที่อุปสรรคสำคัญ คือ ร้านค้าไม่รับชำระ หรือร้านค้าที่รองรับมีจำกัด, ต้องเติมเงินเป็นประจำ และใช้เงินสดสะดวกกว่า รวมถึงการจำกัดมูลค่าการใช้ขั้นต่ำ

ทำให้คนไทยกลุ่มนี้เชื่อว่า กว่าไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสดได้เต็มรูปแบบ อาจต้องใช้เวลา 12 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการผลักดันของภาครัฐและเอกชนด้วย

เรื่องความปลอดภัยไม่ใช่ประเด็นหลัก

เรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสำหรับผู้ที่เคยใช้งานเห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ต้องกังวลอีกต่อไป ส่วนหนึ่งเมื่อเทียบกันแล้วการชำระเงินผ่านมือถือ มีการเข้ารหัส มีการยืนยัน และมีการแจ้งเตือนเมื่อมีการใช้งานเกิดขึ้น ทำให้ผู้ใช้รู้สึกปลอดภัย นอกจากนี้ตัวแอพฯ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเสริมความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

ในทางตรงกันข้าม การพกเงินสดจำนวนมาก มีโอกาสเจอปัญหาด้านความปลอดภัยมากกว่า มีโอกาสเงินสูญหายได้ และมีโอกาสโดนโจรกรรม

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก UnionPay ระบุว่า

  • 52 ล้านร้านค้า (POS merchants) ทั่วโลกที่รองรับการชำระเงินผ่านบัตรยูเนี่ยนเพย์
  • ประมาณ 10 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รองรับการชำระเงินผ่าน UnionPay QR Code ใน 24 ประเทศ
  • เครือข่ายพันธมิตรของยูเนี่ยนเพย์ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 10 ราย
  • ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูเนี่ยนเพย์มีผู้ถือบัตรทั้งสิ้นกว่า 22 ล้านราย
  • มีผู้ใช้ UnionPay Unified App (แอพพลิเคชั่นที่รวมบริการชำระเงินของธนาคารชั้นนำต่างๆ ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว) จำนวนกว่า 100 ล้านรายในจีนและฮ่องกง
  • ยูเนี่ยนเพย์ได้ร่วมกับธนาคารกรุงเทพในการพัฒนาบริการชำระเงินทางคิวอาร์โค้ดผ่านแอพพลิเคชั่น BeWallet ซึ่งจะทำให้ผู้ถือบัตรสามารถใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงินกับเครือข่ายร้านค้า ประมาณ 10 ล้านร้านค้าในเครือข่ายของยูเนี่ยนเพย์ได้ทั่วโลกฃ

สรุป

คนไทย 75% อยากให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society โดยมองว่า ไม่ต้องพกเงินสด สะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยเรื่องประหยัดเงินเพราะมี โปรโมชั่นพิเศษกระตุ้นการใช้งาน ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ไม่ต้องเตรียมเงินทอน ไม่ต้องนับเงินสด ประหยัดเวลา และลดความกังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่มีเงินสดให้ขโมย และไม่ต้องห่วงเรื่องเงินปลอม

อย่างไรก็ตาม การจะก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด ก็ต้องเตรียมความพร้อม ให้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะกับคนกลุ่มที่ไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น ผู้สูงอายุ เพราะถ้าใช้งานผิดพลาด นั่นหมายถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเงินในกระเป๋า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา