ส่องอัตราการว่างงานของไทย 10 ปีย้อนหลัง เศรษฐกิจไม่ดีแต่ตัวเลขยังไม่มาก จริง ๆ คิดจากอะไร

ในช่วงบรรยากาศก่อนถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีนี้ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องปากท้องก็ถูกหยิบยกมาพูดอีกครั้งพร้อมตัวเลขอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับหลายมิติหลายมุม

อัตราการว่างงานก็เป็นตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงเกือบทุกครั้งที่มีการถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี เพราะตามหลักการทั่วไป หากเศรษฐกิจดี อัตราการว่างงานก็ควรจะต่ำเพราะหมายความว่าธุรกิจเติบโตได้ดีจนความต้องการแรงงานเข้ามาช่วยในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

Brand Inside ชวนดูอัตราการว่างงานของไทยในช่วง 10 ปีย้อนหลังนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมวิธีคิดอัตราการว่างงานว่าคิดกันอย่างไร

อัตราการว่างงานปี 2013-2022

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราการว่างงานของคนทั้งประเทศในช่วงปี 2013-2022 เป็นดังนี้

ปี 2013 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.72%
ปี 2014 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.84%
ปี 2015 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.88%
ปี 2016 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.99%
ปี 2017 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.18%
ปี 2018 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.05%
ปี 2019 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98%
ปี 2020 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.69%
ปี 2021 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.93%
ปี 2022 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.32%

กราฟแสดงอัตราการว่างงานของประเทศไทย

ในช่วงปี 2019 มาสู่ปี 2020 จะเห็นว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัดลง ธุรกิจขาดทุนหรือปิดตัวลง ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน

ส่วนในปี 2022 จะเห็นว่าอัตราการว่างงานเริ่มปรับตัวลดลงแม้ว่าจะยังไม่ลดลงเท่าในช่วงก่อนโควิด-19 โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 อัตราการว่างงานรายไตรมาสอยู่ที่ 1.15% มีผู้ว่างงานอยู่ราว 462,000 ราย

กราฟแสดงอัตราการว่างงานของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

อัตราการว่างงานคิดจากอะไร

มาสู่คำถามที่ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 กำลังระบาดหนักต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ เราต่างเห็นสัญญาณของเศรษญกิจที่ตกต่ำลง ทั้งผู้ประกอบการรายย่อยทยอยกันปิดธุรกิจลง นักศึกษาที่จบใหม่หางานยากขึ้นและไม่มีงานทำ รวมทั้งคนตกงานในช่วงโควิด-19 ก็มีจำนวนมาก 

แต่ทำไมอัตราการว่างงานในปี 2020-2022 ถึงเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 แค่ประมาณ 1% เท่านั้น

เริ่มจากความหมายของคำว่า “ผู้มีงานทำ” หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ได้ทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ 

ต่อมาคำว่า “ผู้ว่างงาน” หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ในสัปดาห์การสำรวจภาวะการว่างงานมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

  1. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงาน หรือรอการบรรจุในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์
  2. ไม่ได้ทำงานแต่ไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์ของการสำรวจ

เท่ากับว่าหากไม่ได้ทำงานประจำ แต่ยังทำงานพาร์ทไทม์หรืองานเสริมอื่น ๆ เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ก็จะยังถือว่าเป็นผู้มีงานทำและจะไม่ถูกนับรวมในจำนวนผู้ว่างงาน จึงไม่น่าแปลกที่จำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานจะมีตัวเลขต่ำ

อย่างไรก็ตาม การนับจำนวนคนว่างงานตามเกณฑ์นี้จะทำให้ในการสำรวจมีกลุ่

  • “ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (ด้านเวลา)” หมายถึง ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต้องการทำงานเพิ่ม 
  • “กำลังแรงงานที่รอฤดูกาล” หมายถึง ผู้ที่รอฤดูกาลที่เหมาะสมและเป็นบุคคลที่ตามปกติจะทำงานที่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในไร่นาเกษตรหรือธุรกิจที่หัวหน้าหรือสมาชิกในครัวเรือนคนอื่น ๆ เป็นเจ้าของ คนกลุ่มนี้จะไม่รวมอยู่ในทั้งกลุ่มผู้ว่างงานและกลุ่มที่มีงานทำ 

บุคคลในกลุ่มนี้ก็อาจเข้าข่ายเป็นกลุ่มผู้ว่างงานแฝง หรือคนที่ใช้แรงงานได้ต่ำกว่าประสิทธิภาพจริงทั้งทางด้านเวลาและด้านความสามารถที่จะไม่ได้ถูกนับรวมเป็นผู้ที่ว่างงานในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ซึ่งหากดูสถิติผู้เสมือนว่างงาน ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จะพบว่าตัวเลขสูงขึ้นมาก โดยระดับผู้เสมือนว่างงานของไทยอยู่ในระดับ 2-3 ล้านคนเรื่อยมาและพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 ขึ้นไปเกือบ 6 ล้านคน 

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2, BOT 1, BOT 2

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา