ผีน้อย แรงงานไทยที่ไปทำงานเกาหลีใต้ ภายใน 5 ปี เสียชีวิตแล้วกว่า 500 คน

Thomson Reuters Foundation เผย แรงงานไทยผิดกฎหมายที่ไปทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งถูกเรียกว่าผีน้อย เสียชีวิตอย่างน้อย 522 คน นับตั้งแต่ปี 2015 โดย 84% เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และ 4 ใน 10 คนเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งก็มีทั้งปัญหาด้านสุขภาพ เกิดอุบัติเหตุ และการฆ่าตัวตาย 

แรงงานไทยผิดกฎหมาย ผีน้อย เกาหลีใต้
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลจากสถานทูตไทยระบุว่า ปีนี้ มีแรงงานที่เสียชีวิตจำนวนสูงมากถึง 122 คน สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิดระบาดยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้น โดยช่วงระหว่างปี 2015-2018 ที่ผ่านมา คนไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้มากถึง 283 คน เป็นจำนวนที่มากกว่าคนชาติอื่นๆ ที่เสียชีวิตในเกาหลีใต้ในช่วงเดียวกัน ส่วนปี 2019-2020 ไม่มีข้อมูล

Nilim Baruah ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นฐานแรงงานแห่ง ILO (International Labour Organization: ILO องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ระบุว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลและควรได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริง แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้มักจะได้รับการปกป้องดูแลน้อยทั้งในด้านสุขภาพและความปลอดภัย

แรงงานอพยพทั้งก่อนหน้านี้และในปัจจุบันเคยมีการรณรงค์ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ไทยว่าแรงงานผิดกฎหมายนับหมื่นคนในเกาหลีใต้ ทำงานหนักเกินไป ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณสุขได้ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้ารายงานเจ้าหน้าที่เรื่องที่แรงงานถูกขูดรีดเนื่องจากกลัวที่จะถูกส่งกลับ  

Seoul South Korea โซล เกาหลีใต้
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลการเสียชีวิตของแรงงานอพยพดังกล่าว ไม่ได้ถูกเปิดเผยจึงไม่ได้รับการใส่ใจดูแลสถานภาพความเป็นอยู่ของแรงงานมากเท่าที่ควร แต่เมื่อมีโควิด-19 ระบาดแรงงานต่างชาติเหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย ทั้งนี้ IOM (International Organization for Migration: IOM องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน) ระบุว่า เป็นข้อมูลที่น่ากังวลที่ได้รับการเปิดเผยโดย Thomson Reuters Foundation และกำลังจับตาดูสถานการณ์อยู่ 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน ความยุติธรรมและกิจการต่างประเทศ เกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลดังกล่าว สถานเอกอัครทูตเกาหลีใต้ในกรุงเทพฯ ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นกัน 

ข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศระบุว่า คนไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างน้อย 460,000 คน มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เกาหลีใต้คือเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่คนเลือกไปทำงาน เพราะได้ค่าแรงแพงกว่าทำงานในไทย ถ้าเป็นกลุ่มที่ทำงานถูกกฎหมายจะถูกจัดอยู่ในระบบ EPS (employment permit system) แต่ถ้าเป็นแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ จะถูกเรียกว่าผีน้อยที่ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ที่จัดหางานให้ซึ่งจะรวมค่าเที่ยวบินและค่าที่พักในเกาหลีใต้ไว้ด้วย

South Korea เกาหลีใต้
ภาพจาก Shutterstock

แรงงานที่ผิดกฎหมายจะอยู่ทำงานเกินกว่าที่กำหนด 90 วันซึ่งเป็นช่วงวีซ่าฟรีสำหรับคนไทยในเกาหลีใต้ พวกเขาจะได้ค่าแรงอย่างน้อย 1.2 ล้านวอนหรือประมาณ 1,100 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 3.2 หมื่นบาทต่อเดือน มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในไทยถึง 3 เท่า 

สถานทูตไทยในกรุงโซลได้รับข้อมูลการเสียชีวิตของแรงงานไทยที่รายงานโดยโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการเสียชีวิตนั้น เกิดขึ้นที่บ้านหรือที่ทำงาน แต่ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผย บัญชา ยืนยงจงเจริญ อัครราชทูตประจำสถานทูตไทยในกรุงโซล เกาหลีใต้ให้ข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ว่า บางครั้งแรงงานไทยก็เสียชีวิตขณะหลับ ซึ่งอาจจะมาจากการทำงานเหนื่อยเกินไปและมีปัญหาทางสุขภาพอยู่แล้วและไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเหมาะสม พวกเขาทำงานหนัก บ้างทำงานที่สกปรก และยังไม่สามารถเข้าถึงสาธารณสุขของรัฐได้ด้วย

ด้านศูนย์แรงงานอพยพอาเซียน (Asean Migrant Workers Center: AMWC) ก็ให้ข้อมูลว่า แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้น่าเป็นห่วง ทั้งแรงงานที่มาจากประเทศเนปาล อินโดนีเซีย และเวียดนามก็มีการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน 

Woo Sam-yeol ผู้จัดการกลุ่มสิทธิ่พลเมือง กล่าวว่า ถ้าคุณไม่มีวีซ่า คุณจะเข้าถึงสาธารณสุขยาก และการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์เหล่านี้จะมีราคาแพงถึง 10 ล้านวอน หรือประมาณ 2.7 แสนบาท แรงงานผิดกฎหมายที่ป่วยต้องยอมทนเจ็บปวดจนกระทั่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ 

เกาหลีใต้ south korea
Photo by Adli Wahid on Unsplash

ก่อนหน้านี้ ในปี 2018 มีการเสียชีวิตของคนงานชาวพม่า ทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ก็แนะนำให้กระทรวงยุติธรรมหาทางจัดการกับการเสียชีวิตดังกล่าว เช่น แสดงความรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุ หรือระงับการปราบปรามอย่างรุนแรงกับแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงฯ ก็รับฟังข้อแนะนำดังกล่าวและนำไปปรับปรุง 

ทาง Thomson Reuters ได้พูดคุยกับอดีตแรงงานผิดกฎหมายที่เป็นคนไทยในเกาหลีใต้ พวกเขาได้รับค่าแรงน้อยและยังทำงานอย่างยาวนานในสภาพที่ยากลำบากด้วย เป็นงานที่มีทั้งความอันตรายและสกปรก 

ตัวอย่างเรื่องของ นิด (นามสมมติ) อายุ 32 ปี เธอทำงานเป็นผู้ทำความสะอาดโมเต็ล (โรงแรมสำหรับคนเดินทาง มีห้องนอนติดกับที่จอดรถ) ในเมือง Cheongju เธอป่วยและมีไข้ในช่วงเดือนกรกฎาคม เธอมีช่วงเวลาทำงานยาวนาน 15 ชั่วโมง ในหนึ่งเดือนมีวันหยุดเพียงวันเดียวนี่ถือว่าผิดกฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้

นิดบอกว่าอาการป่วยของเธอทำให้เธอไม่สามารถทำงานนานถึง 4 เดือน เธอบอกว่าเธออยากจะหลับและไม่อยากตื่นขึ้นมาอีกเลย ตอนนี้เธอทำงานเป็นพนักงานนวด นี่เป็นการเปลี่ยนงานครั้งที่ 10 แล้วนับตั้งแต่ปี 2016 เธอจ่ายค่าจ้างสำหรับคนหางานให้ 1 แสนบาท เธอบอกว่าตอนที่เธอป่วยเธอติดต่อสถานทูตไทยเพื่อให้ช่วยพาเธอกลับบ้าน รายชื่อของเธอต้องเข้าคิวอยู่ มีคนไทยเป็นหมื่นรายที่อยากกลับไทยเช่นกัน 

เกาหลีใต้ Seoul South Korea
SEOUL, SOUTH KOREA – APRIL 12 (Photo by Chung Sung-Jun/Getty Images)

อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สาธารณสุขเกาหลีใต้พยายามรับมือกับโควิดระบาดและให้แรงงานผิดกฎหมายสามารถเข้าถึงการตรวจโรคได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ ทางกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับ Thomson Reuters ว่า แรงงานผิดกฎหมายสามารถสมัครใจที่จะออกจากประเทศได้โดยไม่ต้องถูกทำโทษหลังจากที่โควิดระบาด แต่ทางเลือกนี้ก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่มิถุนายนที่ผ่านมา ด้านสถานทูตไทยในกรุงโซล ก็ให้ความช่วยเหลือแรงงานอพยพไทยได้ในปีนี้อย่างน้อย 10,000 คน

สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คนที่อพยพมาทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายก็จะได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาลในกรณีที่ป่วยหรือเสียชีวิต แต่ปัญหาคือคนที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ก็จะไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมาย ขณะที่โรยทราย วงศ์สุบรรณ เจ้าหน้าที่จาก The Freedom Fund มองว่ารัฐบาลไทยไม่ทำความเข้าใจความสำคัญเรื่องการสร้างความปลอดภัยแก่แรงงานข้ามชาติ 

ที่มา – Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา