TTB ยกระดับแอปฯ TTB Touch ให้รองรับ 94% ของธุรกรรมที่ทำได้ในสาขา พร้อมทุ่มหลักพันล้านลงทุนไอที

TTB ฉายภาพกลยุทธ์ประจำปี 2024 วางตัวเป็นธนาคารที่ตอบโจทย์เรื่องดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีแอปพลิเคชัน TTB Touch เป็นศูนย์กลางในการให้บริการ หลังรองรับ 94% ของธุรกรรมต่าง ๆ ที่ทำในสาขาได้ ย้ำไม่ยื่นสมัคร Virtual Banking ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่แค่ดิจิทัลในปัจจุบันก็รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคได้

TTB

TTB เดินหน้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ TTB เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนคือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เมื่อผนวกกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยลบอื่น ๆ การทำธุรกิจในปี 2024 จึงค่อนข้างยาก และการนำดิจิทัลให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นคือเรื่องจำเป็น

“ตอนนี้เราต้อง Make Real Change ไปอีกขั้น ไม่ใช่แค่รับเงินฝาก ปล่อยเงินกู้ เพราะ TTB ต้องปรับโมเดลรายได้ ถ้าลูกค้าไม่เข้าสาขา หรือเข้าน้อยมาก อะไรที่เราจะตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่าเดิม หากองค์กรยังนิ่ง ไม่มีการ Transformation การก้าวผ่านปัจจัยลบต่าง ๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้”

ทำให้ TTB มีการสร้างทีมงานเพื่อรับผิดชอบการมุ่งสู่ดิจิทัลทั้งองค์กรโดยเฉพาะ และในปี 2024 มีการพัฒนาเรื่องดิจิทัลให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตามรายบุคคล คล้ายกับแพลตฟอร์มชั้นนำของโลก เช่น Netflix หรือ Facebook สามารถส่งเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการให้กับผู้ใช้งานได้

 

ttb

จากแค่ดิจิทัล สู่แผน Beyond Banking

การนำดิจิทัลมาใช้งาน TTB มีเป้าหมายเป็นมากกว่าแค่ธนาคาร หรือ Beyond Banking เช่น การปรับช่องทางให้บริการที่ยังมีทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ แม้ปัจจุบันแอปพลิเคชัน TTB Touch จะรองรับ 94% ของธุรกรรมที่ทำได้ในสาขาต่าง ๆ แต่ช่องทางสาขาก็ยังมีความจำเป็น เพียงแต่จะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ตอบโจทย์การทำธุรกิจในปัจจุบัน

“ผมเชื่อว่าออฟไลน์ยังมีความหมาย เช่น ถ้าโดนดูดเงิน หรือเกิดปัญหาทางการเงิน สาขาก็น่าจะให้คำตอบได้ แต่ด้วยเราเริ่มมีการทำ Digital First Branch หรือสาขาที่รองรับดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้ลูกค้าเริ่มเข้าใจว่าภาพของสาขาหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ยังต้องมาสาขาอีกหรือไม่”

ในทางกลับกัน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของ TTB การพัฒนาบุคลากรคืออีกเรื่องที่สำคัญ โดย TTB มีการจัดตั้ง TTB Spark หน่วยงานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการ Reskill และ Upskill ให้พนักงานปัจจุบัน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีดิจิทัลเป็นศูนย์กลาง และการดึงดูดคนเก่งจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานในอนาคต

ttb

ไม่ได้เป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน แต่รองรับได้ทุกระดับ

ปิติ ย้ำว่า TTB อาจไม่ได้เป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน แต่ TTB จะปรับปรุงการตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าแต่ละคนผ่านการใช้ AI เข้ามาช่วยในการจัดระเบียบเนื้อหา, ผลิตภัณฑ์ และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายมากที่สุด โดยเบื้องต้นจะทำผ่าน 4 เรื่องคือ รถยนต์, บ้าน, มนุษย์เงินเดือน และการบริหารความมั่งคั่ง

“เราค่อนข้างเก่งเรื่องรถ กับบ้าน จึงรวมเอาสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถ และบ้าน เช่น การต่อทะเบียน, เติม Easy Pass หรือภาษีที่พักอาศัยเข้ามาแสดงอยู่ในแอปพลิเคชันด้วย เพื่อให้ทุกอย่างจบอยู่ในแอปพลิเคชันเดียว เช่นเดียวกับฝั่งมนุษย์เงินเดือนที่เราจะตอบโจทย์ทั้งฝั่งพนักงาน และ HR ที่ดูแลงาน เป็นต้น”

จากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทำให้ TTB ไม่สมัครใบอนุญาต Virtual Banking ที่กระทรวงการคลังกำลังเปิดให้ยื่นขอในขณะนี้ เพราะ มีการลงทุนเรื่องไอทีไปหลายพันล้านบาท และบริการดิจิทัลต่าง ๆ นั้นรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ทั้งธนาคารต้องการหาพาร์ตเนอร์ใหม่เพื่อมาเติมเต็มธุรกิจมากกว่า เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับ Dept Cleaning เป็นต้น

อ้างอิง // TTB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา