ttb คาด ไทยอาจเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกหลังปี 40 หากโควิดยังพุ่ง-ฉีดวัคซีนไม่ทัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเริ่มฟื้นตัวได้ในเดือนตุลาคม หลังฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70% โดยทั้งปีเศรษฐกิจจะเติบโต 0.3% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ 0.9%

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 และขยายตัวได้ 0.4% เมื่อเทียบกับการฟื้นตัวในไตรมาสแรก โดยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดในระลอกที่ 3 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงอีกครั้ง โดยเฉพาะการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง 2.5%

แต่อย่างไรก็ตาม สศช. พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 กระทบหนัก

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 3 สถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรง และกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น ทำให้มีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม จำนวน 29 จังหวัด ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจรวมกว่า 77% ของ GDP ทั้งประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบ และทรุดตัวลงไปด้วย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี อ้างข้อมูลจาก Facebook Mobility Index ที่พบว่า การเดินทางในจังหวัดที่มีการล็อคดาวน์ลดต่ำลงกว่าการล็อคดาวน์ทั้งประเทศในช่วงที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรก และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกหากขยายช่วงเวลาล็อคดาวน์เพิ่มเติม

นอกจากนี้การเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ในโรงงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

การเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานกระจายไปหลายภาคอุตสาหกรรม และหลายจังหวัด อาจนำไปสู่ปัญหา Supply Disruption และอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นตัวแปรเดียวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งนี้ จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังคงเพิ่มขึ้นแตะระดับ หมื่นคน ทำให้รัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์คุมเข้มไปถึง 31 สิงหาคม 2564 เป็นแรงกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส ให้ลดลงอย่างชัดเจน

ปลายสิงหาคมนี้ ผู้ติดเชื้อใหม่อาจสูงถึง 30,000 คนต่อวัน

เมื่อโควิด-19 และการล็อคดาวน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ได้คาดการณ์การผ่อนคลายล็อคดาวน์ โดยมองไปที่เงื่อนไขการควบคุมการแพร่ระบาด โดยใช้สมมติฐานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในระดับ 25,000-30,000 คน ภายในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ควบคู่ไปการกระจายวัคซีนสอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ซึ่งใช้ตัวบ่งชี้เป็น 70% ของประชากรกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

หากมีอัตราการฉีดวัคซีนราว 3 แสนโดสต่อวัน ตามค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70% ในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยในขณะนี้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จำนวน 8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 54%

หากวัคซีนพอ ฉีดได้ตามแผน เศรษฐกิจฟื้นเดือนตุลาคม 

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ภายใต้การบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นไปตามแผน ทำให้มีปริมาณวัคซีนรองรับเพียงพอ และยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาในเดือนตุลาคม 2564 และหากรักษาอัตราการฉีดวัคซีนระดับนี้ได้ต่อเนื่อง ประเทศจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในเดือนธันวาคม 2564

ด้านการบริโภคของภาคเอกชน พบว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เมื่อมีการปลดล็อมาตรการปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมสีแดง การปิดแคมป์ก่อสร้าง การปิดคลัสเตอร์โรงงาน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการ และเม็ดเงินจากมาตรการเยียวยาที่คาดว่าจะมีต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงานในกิจการและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ รวมถึงโครงการในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ชะลอไปในช่วงสถานการณ์โควิดโดยมีการเบิกจ่ายเพียง 28% คาดว่าจะช่วยประคองการบริโภคไม่ให้ทรุดหนัก โดยมีแนวโน้มที่จะทรงตัวจากปีก่อนหน้า

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าจะยังได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาการโยกย้ายแรงงานจากพื้นที่ก่อสร้าง และการชะลอโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจไทย มีเพียงภาคการส่งออกที่เติบโตได้

อย่างไรก็ตามปัจจัยเศรษฐกิจในแทบทุกด้านของช่วงครึ่งปีหลังยังไม่สามารถกลับสู่ระดับปกติได้ โดยเป็นเพียงการเริ่มฟื้นตัวจากฐานต่ำของปีที่แล้วเท่านั้น มีเพียงภาคการส่งออกที่เติบโตได้ โดยคาดการณ์ว่าปี 2564 นี้จะเติบโตได้ที่ 9.4% ส่วนมาตรการจากภาครัฐเป็นเพียงแรงพยุงเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ลดลงมากได้

ในไตรมาส 3 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะยังหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และจะเติบโตเล็กน้อยในไตรมาส 4 หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จนนำไปสู่การคลายล็อคดาวน์ในช่วงต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัว 0.3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 0.9%

ส่วนในปีหน้า หากแผนการฉีดวัคซีนทำได้ดีต่อเนื่อง และไม่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงละรอกใหม่ คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.2%

วัคซีนชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย ที่อาจถดถอยเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตปี 40

ในทางกลับกัน การคาดการณ์ข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด จนกระทั่งคลายล็อคดาวน์ได้ แต่หากยอดผู้ติดเชื้อยังคงสูงไปจนถึงเดือนกันยายน และต้องขยายมาตรการล็อคดาวน์ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 และการกระจายวัคซีนที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ราว 70% ของประชากร ยืดออกไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2565

รวมถึงปัจจัยด้านการส่งออกของไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากความต้องการในอาเซียนที่ลดลง โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ อาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตลดลงเหลือ 6.6%

จากปัจจัยเสี่ยงทั้งสองนี้ จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจปี 2564 หดตัวลง ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ให้ความคิดเห็นไว้ วิกฤตโควิดทำให้เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา”

ที่มา – ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ทีทีบี

บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา