โควิดรอบ 4 วิกฤตคนทำงาน: อัตราว่างงานเพิ่ม สวนทางความต้องการแรงงานลดที่ลดลงเกือบ 50%

โควิด-19 ระบาดรอบ 4 สร้างวิกฤตคนทำงาน อัตราการว่างงานพุ่งสูง สวนทางกับความต้องการแรงงานที่ลดลงเกือบ 50% ส่วนสถานการณ์อนาคตต้องรอลุ้นว่าจะคุมโควิด-19

ในขณะนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นรอบที่ 4 แล้ว แน่นอนว่าในแต่ละรอบ คนทำงานคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ

จากข้อมูลของเว็บไซต์จัดหางาน JobsDB พบว่าสถานการณ์ของตลาดแรงงานน่าเป็นห่วง อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 1.96% จากที่เคยอยู่ในระดับราว 1% มาโดยตลอด

ส่วนในอีกทางหนึ่ง GDP ของประเทศ จะเป็นส่วนกลับของอัตราการว่างงาน โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ไทยมี GDP ติดลบถึง 6.10% ส่วนไตรมาส 1 ปี 2564 มี GDP ติดลบ 2.6% ส่วนในปี 2564 คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตได้ราว 1.8% ตามการคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย

JobsDB ให้ข้อมูลจำนวนการประกาศงานออนไลน์ทั้งหมดในประเทศไทย พบว่าสถานการณ์โควิด-19 รอบ 4 สถานการณ์ไม่เหมือน 3 รอบที่ผ่านมา

โควิด-19 ระบาด 3 รอบแรก ตลาดแรงงานยังฟื้นได้

เมื่อโควิด-19 ระบาดรอบแรก ช่วงเดือนมีนาคม 2563 พบว่าจำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลง 35.6% หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น หลังจากนั้นเมื่อโควิด-19 ระบาดอีกรอบในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ครั้งนี้ทำให้จำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลงถึง 45.5% ส่วนการระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลง 12.5%

หมายเหตุ: จำนวนประกาศงานออนไลน์นี้เทียบกับช่วงเดือนมกราคม 2563 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดในประเทศไทย

แม้จำนวนประกาศงานออนไลน์ช่วงโควิด-19 ระบาดรอบ 3 จะลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม 2563 แต่ในความจริงแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 นี้ จำนวนประกาศงานออนไลน์ถือว่าเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 และเพิ่มขึ้น 60.5% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563

โควิด-19 รอบนี้ ตลาดแรงงานผลกระทบหนักสุด

แต่นับว่าโชคร้ายที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไม่ได้จบที่รอบ 3 แต่มีรอบ 4 ตามมาด้วย จากข้อมูลของ JobsDB พบว่า จำนวนประกาศงานออนไลน์ในรอบนี้ลดลงถึง 48.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม 2563 (ก่อนโควิด-19 ระบาด) เป็นการลดลงมากที่สุดนับแต่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย

ซ้ำร้ายสถานการณ์ของตลาดแรงงานก็ไม่น่าฟื้นตัวได้ง่ายๆ โดย JobsDB คาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานออนไลน์ในไทย น่าจะอยู่ในระดับติดลบ 50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง และตามธรรมชาติของตลาดแรงงานที่จะเข้าสู่ช่วง Low Season (ตลาดแรงงานไทยมี High Season อยู่สองช่วง คือ ธันวาคม และพฤษภาคมของทุกปี)

สายงานไอที ยังไปได้ในยุคนี้ มีตำแหน่งเปิดรับสูง

ในด้านจำนวนประกาศงานบน JobsDB ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 พบว่าสายงาน สายงานด้านการขาย การตลาด และการจัดการธุรกิจ มีสัดส่วนจำนวนการประกาศงานมากที่สุด ที่ 15.3% ตามมาด้วยสายงานไอที 14.8% วิศวกรรม 10.0% การตลาด และประชาสัมพันธ์ 8.6% และสายงานบัญชี 6.7%

ส่วนในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบ 4 สายงานที่ได้รับผลกระทบ มีจำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลงมากที่สุดคือ สายงานด้านการเงิน และการธนาคาร ลดลง 14.9% สายงานบัญชี ลดลง 13.1%

ในขณะที่สายงานที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบ 4 เลย เพราะกลับมีจำนวนประกาศงานออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ คือ สายงานไอที เพิ่มขึ้น 4.8% และสายงาน e-Commerce เพิ่มขึ้น 14.3%

ในอีกด้านหนึ่งหากจะพิจารณาตลาดแรงงานในประเทศไทย ก็ต้องพูดถึงการแข่งขัน แม้ว่าจำนวนประกาศงานออนไลน์จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การแข่งขันของคนหางานกลับลดลง อยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 งาน เนื่องจากจำนวนประกาศงานออนไลน์ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 ที่เพิ่มขึ้น 6.7% เทียบกับครึ่งปีหลัง ปี 2563

แรงงานต่างชาติ มีทักษะเฉพาะทางสูง อยากเข้ามาทำงานในไทย

อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง แม้การแข่งขันในการหางานจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยจะหางานได้ง่ายในช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะข้อมูลในอีกด้านหนึ่งของ JobsDB พบว่า ในปี 2020 ประเทศไทยติดอันดับที่ 35 ที่ชาวต่างชาติอยากเดินทางเข้ามาทำงานด้วย เปลี่ยนแปลงจากอันดับที่ 43 ในปี 2014 และอันดับที่ 39 ในปี 2018

โดยกลุ่มของแรงงานที่อยากเข้ามาทำงานในประเทศไทย เปลี่ยนจากกลุ่มแรงงานทั่วไป เป็นแรงงานเฉพาะทางที่มีทักษะสูง

ส่วนคนไทยเองก็อยากออกไปทำงานในต่างประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะในสายงานด้านสื่อ ไอที ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา