ทรู ควบรวม ดีแทค เกิด ข้อดี-ข้อเสีย กับผู้บริโภคอย่างไร?

แม้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่การเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง ทรู กับ ดีแทค คงทำให้ผู้ใช้เครือข่ายของทั้งคู่หวั่น ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง Brand Inside จึงรวบรวม ข้อดี-ข้อเสีย ของการควบรวมกิจการครั้งนี้มาให้อ่านกัน

ทรู ดีแทค

ข้อดีคือ เงินลงทุนมากขึ้น โครงข่ายย่อมดีขึ้น

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการเงินลงทุนสูง ดังนั้นการร่วมมือกันย่อมทำให้มีเงินลงทุนมากขึ้น และขยายโครงข่ายได้ดีกว่าเดิม

“การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องเนื่อง และการขยายโครงข่าย รวมถึงลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และบริการต่าง ๆ เป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นเมื่อร่วมมือกัน เงินลงทุนย่อมมากขึ้น และทำเรื่องทั้งหมดข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วยบริการที่ดีขึ้น”

ตัวอย่างเงินลงทุนที่น่าสนใจคือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู มีแผนลงทุนโครงข่าย 5G พ.ศ. 2563-2565 กว่า 40,000-60,000 ล้านบาท ส่วน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค พ.ศ. 2563 ลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ขยายโครงข่าย 5G แต่เม็ดเงินเหล่านี้ไม่รวมค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่หลายหมื่นล้านบาท

ข้อเสียคือ การแข่งขันลดลง บริการก็แย่ลง

ในทางกลับกัน เมื่อผู้เล่นในตลาดน้อยราย การแข่งขันย่อมน้อยลงอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกรณี ทรู ควบรวมกิจการกับ ดีแทค จนเหลือผู้เล่นหลักในตลาดเพียง 2 ราย ย่อมมีโอกาสให้ ทรู และ ดีแทค รวมถึงผู้เล่นรายอื่น ลดความจริงจังในการดำเนินธุรกิจ และกลายเป็นฝั่งผู้บริโภคที่ต้องรับผลเสียนี้

“เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจโทรคมนาคมเกิดผู้เล่นรายใหม่ได้ยาก ดังนั้นเมื่อผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเกิดร่วมมือกัน สุดท้ายผู้บริโภคอาจต้องเป็นฝ่ายง้อ ยิ่งการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง การซื้อสินค้าออนไลน์ และธุรกรรมอื่น ๆ บนโทรศัพท์มือถือมีความสำคัญมากขึ้น ถ้าคุณภาพไม่ดี ราคาไม่ถูก อย่างไรผู้บริโภคก็เจอกับผลเสียจากการร่วมมือครั้งนี้”

หากอ้างอิงจากข้อมูล กสทช. พบว่า จำนวนเลขหมายที่มีผู้ใช้งานของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ สิ้นไตรมาส 4 พ.ศ. 2563 เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดด้วยสัดส่วน 44.35% รองลงมาเป็น ทรู ที่ 33.75% และ ดีแทค 20.18% ดังนั้นหากนำตัวเลขของ ทรู และ ดีแทค มารวมกันจะได้ 53.93% ขึ้นเป็นเบอร์ 1 แทนทันที

ทรู ดีแทค
ส่วนแบ่งตลาดผู้ให้บริการโทรคมนาคมตามจำนวนเลขหมาย

ยังไม่มีความชัดเจนว่าสุดท้ายจะออกหน้าไหน

อย่างไรก็ตาม ประวิทย์ ย้ำว่า ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับรูปความร่วมมือระหว่าง ทรู กับ ดีแทค เช่นจะจัดตั้งองค์กรใหม่ร่วมกัน หรือ การควบรวมกิจการกันจริง ๆ ทำให้คาดการณ์เหตุการณ์หลังจากนี้ได้ยาก จึงต้องรอการประกาศชัดเจนของทั้งสององค์กรก่อน

“ต้องรอดูว่าเขาจะร่วมมือกันอย่างไร ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 30% ในอีกฝ่าย ก็ต้องขออนุญาต กสทช. เพราะมันมีประกาศเดิมของ กทช. กำหนดมาไว้แล้ว คล้ายกับกรณี โลตัส กับ แมคโคร ที่ กขค. เข้ามากำกับดูแล แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายแลกหุ้นกัน หรือตั้งบริษัทใหม่ อันนี้ก็ต้องมาศึกษากันอีกรอบ”

ประกาศฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยนิยามการควบรวมไว้หลายแง่มุม เช่น การซื้อกิจการ, การเข้าไปถือหุ้น และการถือหุ้นไขว้ รวมถึงการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง

ทรู ดีแทค
การคำนวณค่าการครอบงำการตลาดโดยดีชนี HHI

ดัชนี HHI คือหนึ่งในค่าการชี้วัดที่ใช้ตรวจสอบ

ข้อมูลจากประกาศนี้ระบุว่า ดัชนี HHI หรือ Herfindhal-Hirschman Index คือหนึ่งในตัวแปรในการพิจารณาว่า การควบรวมกิจการทำให้เกิดการครอบงำตลาดหรือไม่ ผ่านการหาค่าระดับการกระจุกตัวของตลาด หากค่านี้เกินกว่าเกณฑ์ถือว่าส่งผลลบต่อการแข่งขัน และมีการครอบงำตลาด

ตามประกาศจะใช้ ส่วนแบ่งตลาดของจำนวนยอดขายในการคำนวณ ไม่ใช่ส่วนแบ่งตลาดจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงไม่สามารถนำข้อมูลจากกราฟข้างต้นมาคำนวนได้ แต่หานำมูลดังกล่าวมาทดสอบคำนวนจะพบว่า ดัชนี HHI ที่คำนวณจากส่วนแบ่งจำนวนเลขหมายโทรศัพท์อยู่ที่ 3,453 ในสิ้นไตรมาส 4 พ.ศ. 2563

เมื่อนำส่วนแบ่งของ ทรู กับ ดีแทคมารวมกัน และเข้าสูตรคำนวณ HHI หรือการนำส่วนแบ่งเป็นร้อยละของแต่ละรายมายกกำลังสอง และบวกกัน จะได้ 4,774 และมีค่ามากกว่า 1,800 แสดงให้เห็นว่าตลาดรวมตัวกันหนาแน่น และในประกาศระบุว่า หากตลาดนี้มีค่า HHI มากกว่า 1,800 รวมถึงการควบรวมทำให้ดัชนีมากกว่า 1,800 และเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 100 จะชี้ว่าการควบรวมนี้ส่งผลลบต่อการแข่งขัน และถือว่าเป็นการครอบงำตลาด

ดีชนี HHI
การคำนวณดัชนี HHI

ส่องการกำกับกรณีควบรวมค่ายมือถือต่างประเทศ

ในต่างประเทศมีการควบรวมกิจการของค่ายโทรศัพท์มือถือ และมีหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลเพื่อป้องกันการครอบงำตลาด และคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับผลเสียจากเหตุการณ์นี้ เช่น ในอิตาลีมีการควบรวมกิจการระหว่าง Wind และ H3G เป็น Wind Tre ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 4 เหลือ 3 ราย

ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเลยเสนอให้ Wind และ H3G มอบคลื่นสัญญาณ,โครงข่ายส่วนหนึ่ง รวมถึงเปิดโรมมิ่งให้ผู้บริการรายที่ 4 เข้ามาในตลาดใช้งาน ก่อนจะได้ Illiad ผู้ให้บริการจากฝรั่งเศสเข้ามาเป็นรายที่ 4 คงตลาดให้มีผู้เล่น 4 รายเช่นเดิม

ส่วนในสหรัฐอเมริกา จากกรณีการควบรวมกันระหว่าง T-Mobile กับ Sprint จนเหลือผู้เล่นในตลาด 3 ราย จากเดิม 4 ราย ทำให้หน่วยงานกำกับกิจการที่นั่นมีความเห็นคล้ายกับที่อิตาลีคือ ส่งเสริมให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เพื่อคงอุตสาหกรรมให้มี 4 รายแข่งขันกันเช่นเดิม โดยรายนั้นคือ Dish

อ้างอิง // กสทช. 1, 2

อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบรวมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค ได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา