Toyota – Nissan กับมุมมองเรื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศไทย เรื่องที่คนซื้อรถ ต้องรู้

hybrid-ev-5

อย่าคิดว่าเรื่องของนโยบายจะเป็นเรื่องไกลตัว พูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วคงไม่เกี่ยวกับคนใช้รถ ลองมาฟังมุมมองจาก 2 ค่ายรถยนต์ในไทย ทั้ง Toyota (โตโยต้า) ที่เป็นเจ้าตลาดรวมอยู่ และ Nissan (นิสสัน) ที่ก็มีความโดดเด่นในหลายโมเดล แสดงมุมมองต่อการขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ยุคใหม่ของไทย

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ตอนนี้เทคโนโลยียานยนต์ของโลก ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพพลังงาน และลดมลภาวะ มี 4 ตัวหลักๆ ด้วยกัน คือ Hybrid ที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้กันอยู่, Plug in Hybrid ที่ค่ายรถยนต์ยุโรปเดินเกมกันเต็มที่ และเทคโนโลยีในอนาคตอย่าง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (FCV) ไพ่จะไปออกที่หน้าไหน ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ลองอ่านข้อเสนอจากทีดีอาร์ไอ ซึ่งนำเสนอไปก่อนหน้านี้

ทีดีอาร์ไอ เลยจัดการเสวนาขึ้น โดยมี 2 ค่ายรถยนต์คือ Toyota ซึ่งเชื่อมั่นใน Hybrid กับ Nissan ที่เริ่มทำตลาดรถยนต์ EV แล้ว มาพูดถึงมุมมองที่มีต่อเทคโนโลยี และทิศทางที่ประเทศไทยควรจะมุ่งไป

hybrid-ev-1

เริ่มด้วย Hybrid ก่อนต่อยอดไปเทคโนโลยีอื่น

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การจะใช้รถยนต์ EV จำเป็นต้องคิดถึงโรงไฟฟ้าที่จะผลิตไฟฟ้าด้วย และที่สำคัญคือ ตลาดผู้ใช้ ยังไม่เกิดขึ้น การเร่งสนับสนุนการผลิตที่เร็วเกินไปไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย อย่างน้อยต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพราะยังมีอีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า, หัวชาร์จไฟฟ้าสากล, แบตเตอร์รี่และมอเตอร์ รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งคันที่ต้องเบาและแข็งแรง

“แบตเตอร์รี่ก็เหมือนโทรศัพท์มือถือ ใช้งานไป 1-2 ปีก็จะเริ่มเสื่อมลงไปเรื่อยๆ สำหรับรถยนต์ EV ในเวลานี้ ถ้าซื้อมา ถ้าเกิน 5 ปีก็แทบขายต่อไม่ได้แล้ว แบตเตอร์รี่มีปัญหาเปลี่ยนใหม่ราคาหลักล้านบาท แต่ถ้าเป็น Hybrid มีการรับประกันแบตเตอร์รี่ 10 ปี ถ้าต้องเปลี่ยนใหม่ราคาหลักแสนกว่าบาท”

hybrid-ev-2

สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนคือ ต้องมีมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ Hybrid ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีรถยนต์ Hybrid ใช้งานในประเทศไทยประมาณ 70,000 คันเท่านั้น แต่ถ้าจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและผลิตในประเทศ ต้องมียอดการผลิตขั้นต่ำ 100,000 คันต่อปี ดังนั้นทางออก ต้องมีมาตรการที่ทำให้รถยนต์ Hybrid ราคาต่ำลงใกล้เคียงกับรถยนต์ปกติ โดยราคาไม่ควรห่างกันเกิน 5 หมื่นบาท เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ซื้อ จากปัจจุบันห่างอยู่หลายแสนบาท

ถ้าการใช้รถยนต์ Hybrid มากขึ้น ก็สามารถพัฒนาและผลิตในประเทศ เพื่อใช้ในประเทศ และต่อยอดผลิตเพื่อส่งออก และที่สำคัญคือ แบตเตอร์รี่และมอเตอร์ในรถยนต์ Hybrid จะเป็นพื้นฐานไปสู่เทคโนโลยีอื่นๆ คือ EV และ FCV ในอนาคต

nissan-leaf-ev
Nissan Leaf

EV คืออนาคต แต่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้

เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า นโยบายหลักทั่วโลกคือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดมลภาวะ ซึ่ง EV สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด โดยลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 90% เช่นเดียวกับ FCV ดังนั้นเชื่อว่า EV และ FCV คือเทคโนโลยีในอนาคตอย่างแน่นอน ล่าสุด คณะรัฐมนตรีก็อนุมัติมาตรการสนับสนุนรถยนต์ EV เรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน ยอมรับว่า ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือ แบตเตอร์รี่ และมอเตอร์ ที่ต้องพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง เช่น Nissan Leaf ที่ในการทดลองสามารถวิ่งได้ไกล 160 กิโลเมตร แต่ในการทดสอบจริง บนสภาพการจราจรจริง วิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร แต่เชื่อว่าในเวลาอันใกล้นี้ จะวิ่งได้ถึงระดับ 300 -500 กิโลเมตรแน่นอน

hybrid-ev-3

อีกส่วนคือ การชาร์จไฟฟ้า ที่ยังต้องใช้เวลาในการชาร์จนาน แต่ด้วยการพัฒนาแบตเตอร์รี่ และวัสดุรถยนต์ที่เบาและแข็งแรง อีกไม่นานข้อจำกัดก็จะลดลงไปเช่นกัน เพราะบริษัทด้านพลังงานเช่น ปตท. ก็มีแนวคิดที่จะลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่เหมือนกัน

มุมมองของ Nissan เห็นว่า นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลคือหัวใจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นเตรียมการเพื่อตลาดในอนาคต แน่นอนว่า ตลาดรถยนต์ EV คงไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ปีนี้ คนยังไม่ซื้อใช้แน่นอน แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนเพื่อสร้างดีมานด์ในตลาดก่อน จากนั้นจะเกิดการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และใช้งานในประเทศ จากนั้นจะขยายผลสู่การผลิตเพื่อส่งออก ไทยจะกลายเป็น ฐานการผลิตแบตเตอร์รี่และมอเตอร์ได้ในอนาคต

hybrid-ev-4

สรุป

Toyota เชื่อว่า Hybrid คือเทคโนโลยีของปัจจุบัน ที่มี แบตเตอร์รี่และมอเตอร์ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่รถยนต์ EV และ FCV ได้ ดังนั้นควรสนับสนุน Hybrid ก่อน เพราะมีตลาดรองรับในทันที ต่างจาก EV ที่ยังไม่มีตลาดที่แน่นอนในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ การสนับสนุนในเวลานี้ไม่เกิดประโยชน์กับใคร ขณะที่ Nissan มองว่า รถยนต์ EV เป็นเหมือนรถรุ่นใหม่ที่จะทยอยออกสู่ตลาด และรัฐบาลต้องเริ่มต้นสนับสนุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ตลาดในอนาคต ถ้าช้ากว่านี้ก็อาจจะสายเกินไป ที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

แต่ความเห็นที่ตรงกันของ 2 ค่ายรถยนต์นี้ รวมถึงค่ายอื่นๆ คือ แบตเตอร์รี่และมอเตอร์ มาแน่นอน ไม่ว่าจะเร็ว หรือช้าออกไปสักหน่อย แต่ดูจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี รถยนต์ EV น่าจะออกมาวิ่งกันบนถนนแล้ว และไทย ถ้าอยากเป็นฐานการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออกต่อไป วันนี้ต้องเร่งมือแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา