ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ควรปรับตัวอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง

tdri-5

ใครอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องสนใจอย่างยิ่ง และต้องเริ่มปรับตัวโดยทันที โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบแน่นอน จากการเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางด้านไหน แม้แต่ค่ายรถยนต์ทั้งฝั่งยุโรป-อเมริกา และญี่ปุ่น ก็มีความเห็นแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องของ Hybrid, Plug in Hybrid, EV (รถยนต์ไฟฟ้า) หรือ FCV (Fuel Cell หรือ รถยนต์พลังไฮโดรเจน)

นอกจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้องสนใจเพื่อเตรียมปรับตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ อนาคตส่วนประกอบของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมาคือแบตเตอร์รี่ และ มอเตอร์ ซึ่งทั้ง 4 เทคโนโลยีข้างต้น มีสิ่งนี้เป็นส่วนประกอบ ดังนั้น ถ้าไทยต้องการจะเป็น Detroit of Asia ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป นี่คือสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้

mitsubishi
Credit: news.vice.com

ทำไมบริษัทรถยนต์บางแห่ง ต้องโกงผลการทดสอบ

งานเสวนาวิชาการของทีดีอาร์ไอ นำโดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ, วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ และสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เรื่องทิศทางยานยนต์ยุคใหม่ในประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มของยานยนต์ในอนาคตต้องประหยัดพลังงานมากขึ้น และปล่อยมลภาวะน้อยลง ดูได้จากมาตรการ CAFÉ (Corporate Average Fuel Efficiency) เป็นเกณฑ์ควบคุมการนำเข้ารถยนต์จากค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานยนต์ ซึ่งแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ช่วงก่อนหน้านี้จะเห็นบริษัทรถยนต์ ที่ออกมายอมรับว่า “โกง” การทดสอบเรื่องประสิทธิภาพพลังงาน หรือการปล่อยมลภาวะ

แสดงว่า เทคโนโลยีใหม่ ทั้ง 4 แบบกำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก เนื่องจากจะมาช่วยเรื่องประสิทธิภาพพลังงาน และลดมลภาวะ แต่ ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า ตลาดรถยนต์ EV ยังไม่เกิดในระยะเวลาอันใกล้นี้  เนื่องจาก ราคาน้ำมันยังต่ำไปอีกระยะหนึ่ง (ถ้าสูงขึ้น จะเป็นตัวผลักดันให้พัฒนา EV เร็วขึ้นด้วย) ตัวแบตเตอร์รี่และมอเตอร์ ที่ยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาอีกระยะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า ยังไม่พร้อม

ดังนั้นคำถามคือ ประเทศไทย ควรจะไปในทิศทางไหน

tdri-2

tdri-4

ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่วันนี้

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของโลก แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือ นโยบายและภาษียังไม่สอดคล้องและสนับสนุนแนวทางนี้

อย่างน้อยที่สุด โครงสร้างภาษีสรรพสามิตในปัจจุบันที่จัดเก็บจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยังให้สิทธิพิเศษกับ รถกระบะ 1 ตัน และ รถ ECO Car ไม่ว่าจะปล่อยมลภาวะมากแค่ไหน ก็เสียภาษีเท่าเดิม ไม่จูงใจให้เกิดการพัฒนา ถือว่าไม่สอดคล้องกับแนวทางที่ทั้งโลกกำลังมุ่งไป

ความหวังของประเทศไทยอยู่ที่ตลาดส่งออกเป็นอย่างมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยน แต่รถที่ไทยสามารถผลิตได้ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด “น้อยลง” ถ้าอยากเป็นฐานการผลิตต่อไป ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้โดยเร็ว

tdri-1

แนวทางการสนับสนุนที่ควรเกิดขึ้น

รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างถูกต้อง โดย ทีดีอาร์ไอ มองว่า ควรมีการนำร่องใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเป็นการเดินรถแบบมีเส้นทางที่ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้สถานีชาร์จไฟฟ้าระหว่างทาง เป็นการทดสอบประสิทธิภาพ และสร้างตลาดในประเทศ พร้อมกับยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอร์รี่ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องประกอบรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอร์รี่และมอเตอร์ ในประเทศไทย ภายใน 5 ปี

การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า และชิ้นส่วน เป็นมาตรการที่ได้ผล ในอดีตเคยทำมาแล้วกับรถยนต์ Hybrid ส่งผลให้ราคาปรับลดลงประมาณ 20,000 บาท และตลาดมีการขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ด้วยตลาดรถยนต์ EV ที่จะยังไม่เกิดในเวลาอันสั้น ไทยควรส่งเสริมตลาดรถยนต์ Hybrid และ Plug in Hybrid เช่น มาตรการทางภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิตแบตเตอร์รี่และมอเตอร์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป

และต้องไม่ลืมว่า สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเป็นกลางทางเทคโนโลยี และคิดภาษีที่สะท้อนการปล่อยมลภาวะตามจริง

tdri-3

สรุป

ทีดีอาร์ไอ ระบุว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานและการใช้พลังงานต้องดี ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต้องต่ำ (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) แต่เทคโนโลยีไหนจะมายังไม่แน่นอน แต่สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำในวันนี้คือ สนับสนุนการพัฒนาและผลิต แบตเตอร์รี่และมอเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจของยานยนต์ยุคใหม่ และยังต้องดูแนวทางการผลิต วัสดุและชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่น้ำหนักเบาแต่แข็งแรง

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์คนไทย ถ้าไม่เตรียมปรับปรุงตั้งแต่วันนี้ ภายใน 20-30 ปีข้างหน้า ก็อาจจะหายออกไปจากตลาด เพราะเทคโนโลยีมาเร็วกว่าที่คิดไว้

ขณะที่การดำเนินการของภาครัฐ ต้องมีนโยบายด้านพลังงาน อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกัน ต้องไม่เลือกเทคโนโลยีล่วงหน้า แต่ดูที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีตลาดรองรับ ซึ่งปัจจุบันนโยบายของภาครัฐยังไม่ค่อยสอดคล้องกันเองเท่าไร เช่น การเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่เท่ากัน

Credit Image: news.vice.com, pixabay.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา