ครั้งแรก! จำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ของจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ได้แล้ว
จากการวิเคราะห์ข้อมูล 5 ปีย้อนหลังพบว่า จำนวนนักวิทยาศาสตร์ในจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่นักวิทย์ฯ ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนลดลง
สำหรับเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ว่าตอนนี้ชาติไหนมีอิทธิพลมากกว่ากัน โดยวัดจากจำนวนคนที่มีความสามารถระดับสูงทั้งในมิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นนักวิจัยและเคยมีผลงานเผยแพร่ในวารสารระดับชั้นนำของโลก
จากรายงานที่เผยแพร่โดยบริษัทเทคโนโลยี Dongbi Data เซินเจิ้น เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าในช่วงระหว่างปี 2020 ถึง 2024 นั้นมีจำนวนนักวิทย์ฯ ที่แตกต่างออกไป
โดยสหรัฐอเมริกาเคยมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกจำนวน 36,599 คนในปี 2020 แต่ปรากฎว่าในปี 2024 นักวิทย์ฯ มีจำนวนลดลงเป็น 31,781 คน ทำให้สัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯลดลงจากเกือบ 33% เป็น 27%
ขณะที่จีนมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจาก 18,805 คนในปี 2020 เป็น 32,511 คนในปี 2024 หรือเพิ่มขึ้นจากอัตรา 17% เป็น 28%
สำหรับผลการสำรวจนี้มาจากการสุ่มตัวอย่างเอกสารสำคัญกว่า 40,000 ชื้นที่ได้รับการอ้างอิงและได้รับการตีพิมพ์ในช่วงปี 2020 ถึง ปี 2024 จากวารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำ 129 ฉบับจากหลากหลายสาขาวิชา ซึ่ง Wu Densheng อาจารย์จาก Shenzhen University’s college of management และผู้ก่อตั้ง Dongbi Data กล่าวว่า การวิเคราะห์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ห้าปีที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง
สำหรับจีนแล้ว นักวิยาศาสตร์ชั้นนำมักกระจุกตัวที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศ จากรายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นเมืองใดบ้าง ส่วนใหญ่เมืองที่มีชื่อเสียงฝั่งนี้ก็คือ Shanghai, Dalian, Haikou, Hangzhou และ Nanjing
ขณะที่สหัฐอเมริกา ส่วนใหญ่กระจุกตัวในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยใน California และ Massachusetts
นอกจากนี้ สถาบันวิชาการทางวิทยาศาสตร์ของจีนยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีกว่า 100 สถาบันทั่วจีน มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจำนวน 3,615 คนแซงหน้าสหรัฐฯ ที่ Harvard University มี 1,683 คน ส่วน Stanford University มี 1,208 คน
นอกจากจีนและสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนีด้วย แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีจำนวนที่คงที่และยังมีจำนวนลดลงเล็กน้อย ส่วนอังกฤษ ฝรั่งเศสมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ญี่ปุ่น และออสเตรเลียก็มีจำนวนนักวิทย์ฯ ลดลงเช่นกัน
อีกทั้งรายงานที่เผยแพร่ในปี 2023 พบว่า สถาบันด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้ผลิตผลงานทางวิชาการในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในปี 2022 และยังถือเป็นครั้งแรกที่จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ได้
เรื่องนี้สะท้อนอะไรบ้าง?
มันสะท้อนให้เห็นว่า ในแง่จำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จีนก็สามารถผลิตผลงานเผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำแซงหน้าสหรัฐฯได้แล้ว
จำนวนนักวิทยาศาสตร์ของจีนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ใช้เวลาเพียง 5 ปีก็เพิ่มจำนวนแซงหน้าสหรัฐฯ ได้แล้ว และยังแซงหน้าอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย ที่มีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง นั่นหมายความผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของจีนกำลังครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก และเป็นผลการศึกษาที่มาจากจีนล้วน
ที่มา – South China Morning Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา