TMB Analytics หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ประเมินโควิดระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปี 2563 สะเทือนภาคธุรกิจที่เปราะบาง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุมที่รัฐใช้เป็นทางออกช่วยลดผลกระทบไม่ให้เหมือนล็อคดาวน์ช่วงเดือนเมษายน แต่การใช้จ่ายและท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อ SMEs ในภาคการค้า บริการ ท่องเที่ยวกว่า 1.3 ล้านรายและกระทบการจ้างงานกว่า 6.1 ล้านคน
แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ “เราชนะ” และ “โครงการคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ Micro SMEs ในส่วนที่เป็นร้านค้าย่อยและกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมกลุ่ม SMEs ที่เป็นนิติบุคคลและอยู่ในระบบภาษีที่มีอยู่ 1.1 แสนราย และจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน
ผลกระทบจากโควิดระบาดไตรมาสแรกปี 2021 จะทำให้รายได้ธุรกิจบริการและท่องเที่ยวทั่วไทยลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านรายกระทบการจ้างงานรวมกันอยู่ 6.1 ล้านคน
ถ้าแยกพิจารณาตามพื้นที่ควบคุมการระบาดพบว่า กลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดรายได้จะลดลงราว 2.20 หมื่นล้านบาท มี SMEs ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีการจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน ขณะที่กลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูงจะลดลง 2.7 และ 2.2 พันล้านบาท มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนรายตามลำดับ
ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้ารายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท รองลงมาคือร้านค้าเบ็ดเตล็ดรายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท สาเหตุที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ ส่วนธุรกิจโรงแรมที่พักและร้านอาหาร รายได้ลดลง 3.8 พันล้านและ 2.7 พันล้านบาทตามลำดับ
SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากที่สุด 4.6 หมื่นราย มีการจ้างงาน 3.3 แสนคน รองลงมาคือร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจ 1.1 หมื่นรายจ้างงานอยู่ที่ 6.4 หมื่นคน ตามด้วยธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมที่พัก จำนวนธุรกิจ 1 หมื่นราย 7 พันรายตามลำดับ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 2.9 แสนคน
SMEs ในจังหวัดชลบุรีได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมาก จะมีรายได้ลดลง 6.2 พันล้านบาท มีการจ้างงาน 2.46 แสนคน ผลกระทบมากเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว มีสัดส่วนภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ 48% ของมูลค่าการค้าและท่องเที่ยวรวมกัน รองลงมาคือกรุงเทพฯ รายได้จะลดลง 5 พันล้านบาท ลำดับรองลงมาคือสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ได้รับผลกระทบ 1.38 พันล้าน, 1.13 พันล้าน และ 1.08 พันล้านบาทตามลำดับ
มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่วนใหญ่ครอบคลุม SMEs รายย่อยเป้นหลัก ยังขาดมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล รัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้ให้มากขึ้น เช่น เพิ่มมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยจ่ายค่าแรงงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้
ที่มา – TMB Analytics
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา