โดนพิษโควิด ค้าปลีกไทย สูญเงิน 5 แสนล้าน เสนอรัฐเยียวยา ช่วย SME คุมราคาอีคอมเมิร์ซ

ค้าปลีกไทย โดนผลกระทบโควิด ปี 63 ติดลบ 5 แสนล้านบาท สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาด ไตรมาสแรกปี 64 ดัชนีค้าปลีกติดลบ 7-8% เสนอรัฐแก้ปัญหาการว่างงาน สภาพคล่องผู้ประกอบการ จัดการภาษี-ควบคุมราคาอีคอมเมิร์ซ กระตุ้นการบริโภคในประเทศ

ค้าปลีกไทย
ร้านค้าปลีกดั้งเดิม // ภาพ pixabay.com

สมาคมค้าปลีกไทยเสนอให้รัฐช่วยเยียวยาร้านค้าปลีกและ SME หลังอุตสาหกรรมค้าปลีกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมาดัชนีค้าปลีกติดลบ 12% คิดเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาทและคาดการณ์ว่าไตรมาส 1/2564 ดัชนีค้าปลีกไทยจะยังติดลบอยู่ที่ 7-8%

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยถือเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจประเทศครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่มีผู้ประกอบการในระบบ 1.3 ล้านรายและมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านคน การที่ดัชนีค้าปลีกติดลบมากถึงสองหลักเป็นครั้งแรกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระบบเศรษฐกิจไทย การว่างงานเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง SME ทยอยปิดตัว หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น กำลังซื้อลดลง

ดัชนี ค้าปลีกไทย 2020
ดัชนีค้าปลีกไทยปี 2010-2020

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเสนอ 5 มาตราการให้รัฐช่วยเยียวยาระบบค้าปลีก ช่วยเหลือร้านค้าปลีกและ SME ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทยในภาวะวิกฤต ดังนี้

  1. เพิ่มการจ้างงานรายชั่วโมง เพิ่มทางเลือกการจ้างงานแบบรายชั่วโมงในช่วงพีคของเวลาการให้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดอัตราการว่างงาน และสร้างการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดว่าจะสามารถเกิดการจ้างงานได้ทันทีกว่า 52,000 อัตราและเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 อัตราในระยะยาว
  2. ให้สินเชื่อ Soft Loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ที่สามารถเข้าถึง SME เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยได้โดยตรง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้า-SME ลดการเกิดภาวะหนี้สูญ
  3. เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสินค้าอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตมูลค่า 3 แสนล้านบาทแต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ร้านค้าปลีกและ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ สร้างความเสียหายในระยะยาว
  4. ลดภาษีนำเข้าแบบขั้นบันไดในสินค้าไลฟ์สไตล์ชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศเจาะกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อระดับกลางขึ้นไปที่มีความต้องการซื้อสินค้าแบรนด์ต่างประเทศ โดยปรับลดจากอัตรา 30% ในปัจจุบันเป็นแบบขั้นบันไดตามชนิดสินค้า กระตุ้นให้คนหันมาซื้อสินค้าจากช็อปไทยมากขึ้นโดยไม่กระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งทางสมาคมคาดว่าจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้ถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส
  5. ให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อเป็นประจำ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ผลิตโดยผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่ราย การให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการจะช่วยให้ประชนชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลายและเกิดการกระจายรายได้ไปยังผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอย่างเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ SME ได้มากขึ้น

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชื่อว่ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้ง 5 ผ่านระบบค้าปลีกจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันท่วงที ส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว และทำให้เศรษฐกิจประเทศสามารถกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา