สำหรับคนที่เสพ TikTok เพื่อความบันเทิง เพื่อความรู้ อาจไม่ได้รับผลกระทบเท่าคนที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ แต่ดันมีพื้นที่ไม่ครอบคลุมไปยัง TikTok ถ้ามีเพียงพื้นที่ขายของเฉพาะใน Shopee หรือ Lazada ตอนนี้อาจไม่พอแล้ว ต้องมาลุย TikTok ด้วย
ใครที่เล่น TikTok ไถหน้าจอและเสพคอนเทนต์จากพื้นที่นี้ไปเรื่อยๆ จะรู้กันดีว่า อยู่ๆ เราก็เผลอตกเป็นลูกค้าของพ่อค้าแม่ค้าใน TikTok โดยไม่รู้ตัวเพราะการนำเสนอเนื้อหาแบบเพลินๆ เล่าเรื่องไป แต่งหน้าไป คุยตลกๆ กับเพื่อนไป รู้ตัวอีกที เอ้าขายของ และก็ขายดีซะด้วยเพราะทดลองใช้สินค้าให้ดูเห็นๆ ใช้เวลาสั้นๆ เล่าเรื่องให้ฟังเพลินๆ ไม่กี่นาที ก็ทำให้ผู้ชมเผลอกดซื้อสินค้าไปได้ง่ายๆ
TikTok รุกคืบช้าๆ แต่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ปี 2022 ที่ผ่านมา TikTok เริ่มรุกคืบมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บุกตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทยมาอย่างเงียบๆ แต่ดันขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ด้าน Shawn Yang นักวิเคราะห์ จาก Blue Lotus Research Institute ได้ระบุไว้ในรายงานของ Sea Group ซึ่งเป็นเจ้าของ Shopee เอง ยังประเมินไว้ด้วยว่า ยอดขายออนไลน์ของ TikTok ในปี 2023 น่าจะทะลุ 20% นักวิเคราะห์จึงแนะนำให้ Shopee เร่งเพิ่มยอดขายและทำการตลาดเชิงรุกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่ง TikTok เองก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือเปิดเผยตัวเลขด้านยอดขายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าโดยรวมของ TikTok ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2022 นั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า อยู่ที่ 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.53 แสนล้านบาท และยังมีรายงานอีกว่า TikTok ตั้งเป้าจะทำให้ยอดขายสินค้าโดยรวมของปี 2023 เติบโตถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.17 แสนล้านบาท
หากเทียบกับ Shopee ยอดขายสินค้าออนไลน์โดยรวมของปี 2022 อยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.55 ล้านล้านบาท ส่วนยอดขายสินค้าโดยรวมของ Lazada ในปี 2021 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7.3 แสนล้านบาท
ฐานลูกค้า TikTok ค่อยๆ แข็งแกร่ง แพลตฟอร์มพร้อมเดินหน้าพัฒนาร้านค้าออนไลน์
ด้านโฆษกจาก TikTok ระบุกับ CNBC ไว้ว่ายอดผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนั้นเติบโตต่อเนื่อง ทาง TikTok เองก็กำลังมุ่งเป้าที่จะพัฒนาร้านค้าในแพลตฟอร์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปเช่นกัน แค่เดือนพฤษภาคมนี้ ยอดผู้ใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พุ่งสูงถึง 135 ล้านราย ซึ่งอินโดนีเซียถือว่ามียอดผู้ใช้งานสูงมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา
ทั้งนี้ มีผลสำรวจจากบริษัท Cube Asia ตั้งคำถามว่า “การที่คุณใช้จ่ายเงินในร้านค้าบนแพลตฟอร์ม TikTok นี้ มันทำให้คุณต้องลดการใช้จ่ายจากช่องทางอื่นๆ หรือไม่?” ผลสำรวจจากอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ พบว่า พวกเขาลดค่าใช้จ่ายจากแพลตฟอร์มอื่นจริง ลดจาก Shopee 51% ลดจาก Lazada 45% และลดจากช่องทางออฟไลน์ 38% ด้าน Shopee และ Lazada ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ กับเรื่องนี้
นักวิเคราะห์มอง การเผาเงินเพื่อดึงลูกค้าของ TikTok นั้น ไม่ยั่งยืน
Jonathan Woo นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Phillip Securities Research ระบุว่า TikTok ทุ่มเงินอย่างมหาศาล เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบนแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้นานนัก ซึ่ง Woo ประเมินว่า TikTok น่าจะใช้เงินสำหรับก้อนนี้ราว 600 ถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 6-8% ของยอดขายโดยรวมในปี 2023 ที่น่าจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
การเผาเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดผู้ใช้งานเพิ่ม มีหลายแบบด้วยกัน ตัวอย่างจาก CNBC ระบุว่า เช่นการยกเลิกค่าคอมมิชชันสำหรับในบางพื้นที่ ขณะที่บางแพลตฟอร์มออนไลน์ คิดค่าคอมฯ หรือหากเช็คราคาตลาดสินค้าอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ใน TikTok กลับขายถูกกว่าตลาดมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ Jonathan Woo มองว่า TikTok อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับ Shopee ได้มาก ซึ่ง Shopee อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับ TikTok ไปบ้าง แต่เขามองว่า Lazada ไม่น่าจะได้รับความเสี่ยงแบบเดียวกัน เนื่องจาก Lazada พยายามไล่ตาม Shopee ให้ทันมาตั้งแต่ปี 2020 แล้ว โดยรวม เขามองว่า TikTok อาจจะมีศักยภาพที่จะยิ่งใหญ่ได้พอๆ กับ Shopee หรือ Lazada แต่ก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายปี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา