The Ocean Cleanup: องค์กรที่อยากเก็บขยะพลาสติกให้หมดทะเลกับ 11 ปีที่เริ่มเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

The Ocean Cleanup ได้ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อนำเรือเก็บขยะ Interceptor 019 มาใช้เก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งยังเก็บขยะจากคลองขนาดเล็กหลายแห่งที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

กรุงเทพฯ ถือเป็นเป็นประเทศที่ 8 จากทั่วโลกและเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำโซลูชันเรือเก็บขยะ Interceptor จาก The Ocean Cleanup มาใช้ 

The Ocean Cleanup เป็นองค์กรไม่แสดงผลกำไรที่ก่อตั้งโดย Boyan Slat ชายชาวเนเธอร์แลนด์เมื่อตอนอายุ 18 ปี มีเป้าหมายเพื่อกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อม ปัจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 120 รายประกอบด้วยวิศวกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้สร้างโมเดลทางคอมพิวเตอร์ และสมาชิกที่ทำหน้าที่สนับสนุนในฝ่ายอื่น ๆ 

กว่าจะมาเป็น The Ocean Cleanup โปรเจคเก็บขยะเริ่มต้นมาจากแนวคิดของ Boyan Slat ในวัย 16 ปีที่มองเห็นถุงพลาสติกลอยอยู่ในมหาสมุทรจนมีมากกว่าปลาในขณะที่กำลังดำน้ำในกรีซ จนนำไปสู่การหาข้อมูลเรื่องปัญหามลพิษจากพลาสติกเพื่อทำโปรเจคในโรงเรียนจนได้พบข้อมูลเกี่ยวกับ Great Pacific Garbage Patch ซึ่งเป็นหนึ่งในแพขยะในมหาสุทรแปซิฟิกที่ใหญ่ที่สุด ก่อนที่ในปี 2012 เขาจะได้ขึ้นพูดบนเวที TEDx Talk เรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำจัดขยะในมหาสมุทรและวิดีโอได้กลายเป็นกระแส ในที่สุด เขาก็ได้ออกจากโรงเรียนเพื่อมาก่อตั้ง The Ocean Cleanup ขึ้นในปี 2013

เป้าหมายหลักขององค์กรนี้ คือ การกำจัดขยะที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรให้ได้ 90% ในปี 2040 

หลังจากก่อตั้งองค์กรขึ้น ในปี 2014 องค์กรนำเสนอแนวคิดเริ่มต้นสำหรับระบบทำความสะอาดขนาดใหญ่แบบพาสซีฟโดยใช้ระบบเครื่องกีดขวางลอยน้ำ ก่อนที่จะเผยแพร่การศึกษาความเป็นไปได้และระดมทุนจากประชาชนได้ 2.2 ล้านดอลลาร์ และมีการทดสอบนำร่องในทะเลเหนือเพื่อปรับปรุงการออกแบบเครื่องกีดขวางในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ

ในปี 2018 The Ocean Cleanup ได้พัฒนาระบบทำความสะอาดขนาดเต็มรูปแบบแรกที่เรียกว่าระบบ 001 หรือ “Wilson” ถูกปล่อยลงในพื้นที่ขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม องค์กรก็ได้เผชิญกับอุปสรรคเมื่อระบบไม่สามารถรักษาพลาสติกที่เก็บได้นำไปสู่การการออกแบบระบบปรับปรุงใหม่ที่เรียกว่าระบบ 001/B และสามารถเก็บเศษพลาสติกได้สำเร็จ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นระบบ 002 มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อทเริ่มดำเนินการในพื้นที่ขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 2021 ก่อนที่จะประกาศแผนการจัดการกับขยะในแม่น้ำ

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า พลาสติกส่วนใหญ่ในแพขยะโดยน้ำหนักแล้วมาจากซากขนาดใหญ่ ทำให้ความท้าทายอยู่ที่วิธีการกำจัดพลาสติกโดยไม่ใช้ชิ้นส่วนขนาดใหญ่แยกออกเป็นไมโครพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม 

วิธีการกำจัดขยะในมหาสมุทรของ The Ocean Cleanup แบ่งออกเป็น 2 กลยุทธ์ อย่างแรก คือ การเก็บขยะพลาสติกดั้งเดิมที่สะสมอยู่ในมหาสมุทรมาหลายสิบปีเริ่มต้นจาก Great Pacific Garbage Patch อย่างที่ 2 คือ การกำจัดขยะพลาสติกในแม่น้ำต่าง ๆ ที่มีมลพิษอย่างมากเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่มหาสมุทรเพิ่มอีก การนำ Interceptor 019 มาเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการผ่านกลยุทธ์ที่ 2 

สาเหตุที่ต้องเก็บขยะจากแม่น้ำก่อนไหลลงสู่มหาสมุทรมาจากงานวิจัยของ The Ocean Cleanup เองที่แสดงให้เห็นว่า พลาสติกในมหาสมุทรส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำ โดยแม่น้ำหลายแห่งที่มีขยะไหลลงมหาสมุทรมากที่สุดอยู่ในเมืองชายฝั่งขนาดใหญ่ทั่วโลก นำมาสู่โครงการ Rivers ที่มุ่งเก็บขยะในแม่น้ำ 

ปัจจุบันนี้ โครงการ River ที่ใช้เรือเก็บขยะ Interceptor ได้กำจัดขยะออกจากแม่น้ำทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 9 ล้านกิโลกรัม

Interceptor 019 เป็นเรือรุ่นที่ 3 ของโครงการ Interceptor Original ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อทำความสะอาดแม่น้ำที่ริเริ่มขึ้นในปี 2019 มีลักษณะเป็นเรือเก็บขยะที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ 100% โดยจะผลิตเรือเก็บขยะนี้ออกมาอีกเพื่อให้สามารถกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นโดยความร่วมมือกับ Konecranes บริษัทอุปกรณ์ช่วยยก ในปี 2020 ทำให้ปัจจุบัน นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีการใช้เรือ Interceptor Originals ที่อื่นอีก เช่น  Interceptor 004 ในแม่น้ำ Rio Ozama ของโดมินิกันรีพับบลิค Interceptor 002 ในแม่น้ำกลางของมาเลเซีย และ Interceptor 003 ในเวียดนาม

นอกจากการใช้ Interceptor 019 ในประเทศไทย The Ocean Cleanup ยังได้ติดกล้องหลายตัวบนสะพานทั่วกรุงเทพเพื่อการศึกษาเรื่องมลพิษจากพลาสติก ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของปริมาณและทิศทางการลอยของขยะเพื่อแบ่งปันข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่กรุงเทพและรัฐบาล แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำที่กว้างที่สุดและมีการสัญจรที่พลุกพล่านที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมาในโครงการ Rivers 

หลักการการทำงานของ The Ocean Cleanup ยังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นด้วย อย่างการนำ Interceptor 019 มาใช้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานทูตเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทย ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร Ecomarine Asimar Coca-Cola และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหลายโครงการ 

นับตั้งแต่การเริ่มต้นในปี 2013 เมื่อ Boyan Slat อายุ 18 ปี ในตอนนี้ The Ocean Cleanup ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 11 จนผู้ก่อตั้งมีอายุ 29 ปีแล้ว ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่เกิดจากเพียงแค่แนวคิดเริ่มต้นของเด็กหนุ่มวัยเรียนที่มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาช่วยสิ่งแวดล้อมได้ The Ocean Cleanup กำลังเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ต้องลองดูต่อไปว่าในปี 2040 องค์กรนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกกับทะเลได้มากเท่าไร

ที่มา – The Ocean Cleanup

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา