แล้วถุงผ้าช่วยโลกจริงไหม? ย้อนจุดเริ่มต้นถุงพลาสติก เกิดขึ้นเพื่อช่วยโลกแต่ดันกลายเป็นตัวร้าย

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะและลดการใช้พลาสติกที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนาน ทำให้ไม่ว่าจะเดินไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านเสื้อผ้าในห้าง หรือแม้แต่งานอีเวนท์ ของที่ได้ติดไม้ติดมือมาด้วยก็คือถุงผ้า

ลองสำรวจถุงผ้าภายในบ้านกันดูว่ามีถุงผ้าอยู่กี่ใบแล้ว แน่นอนว่ามากกว่า 1 ใบ เมื่อมีถุงผ้ากันคนละหลายใบคำถามที่น่าคิดก็คือแล้วจะยังได้ใช้ซ้ำกันไหม หากลองย้อนไปดูจุดเริ่มต้น ถุงพลาสติกเองก็เกิดมาจากแนวคิดที่อยากจะลดการตัดไม้ทำลายป่าจากการใช้ถุงกระดาษแต่ไป ๆ มา ๆ ดันกลายเป็นตัวร้ายที่ทำลายโลกมากกว่าเดิม แล้วแบบนี้การหันมาใช้ถุงผ้าจะซ้ำรอยถุงพลาสติกหรือไม่เมื่อผลิตเพิ่มเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ใช้ซ้ำ

จุดเริ่มต้นของถุงพลาสติกเกิดขึ้นเพื่อช่วยโลก

เริ่มแรกที่ยังไม่ได้มีการใช้พลาสติก ผู้คนยุคนั้นก็เคยใช้ถุงกระดาษกันมาก่อนแล้ว ในปี 1852 Francis Wolle ได้คิดค้นเครื่องผลิตถุงกระดาษขึ้นมาและได้จดสิทธิบัตรร่วมกับพี่ชายและตั้งบริษัทผลิตกระดาษที่ชื่อว่า Union Paper Bag Company ขึ้นมาทำให้ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตถุงสำหรับช็อปปิ้ง

ต่อมาในปี 1933 โพลีเอทิลีนซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันถูกคิดค้นขึ้นมาโดยบังเอิญในโรงงานสารเคมีในอังกฤษ ถือว่าเป็นการสังเคราะห์วัสดุที่ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก พลาสติกชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกอย่างลับ ๆ ในกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ปี 1965 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญเพราะเป็นปีที่ถุงพลาสติกสำหรับช็อปปิ้งที่ใช้โพลิเอทิลีนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและได้รับการจดสิทธิบัตรโดยบริษัทสัญชาติสวีเดนที่มีชื่อว่า Celloplast ถุงพลาสติกได้รับการออกแบบโดยลูกจ้างของบริษัทที่มีชื่อว่า Sten Gustaf Thulin 

หลังจากนั้นถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกลายเป็นตัวเลือกแทนที่ถุงกระดาษที่ถูกมองว่าทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะทำให้ต้องโค่นต้นไม้จำนวนมากเพื่อมาทำถุง ถุงพลาสติกมีความคงทนมากกว่า สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งกว่าถุงกระดาษ  ไม่ทำให้ต้องตัดต้นไม้

ถุงพลาสติกค่อย ๆ ได้รับการยอมรับขึ้นเรื่อย ๆ อย่างในปี 1976 Mobil Chemical ก็เริ่มผลิตถุงเป็นของตัวเอง ต่อมาไม่นานก็เริ่มใช้ถุงที่ผลิตเองนี้ในปริมาณไม่มากก่อนในร้านค้าในสหรัฐอเมริกาแต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในช่วงแรก แต่พอถึงปี 1979 ถุงพลาสติกที่กินส่วนแบ่งการตลาดถุงไป 80% ในยุโรปก็เริ่มเข้าไปในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นทั่วโลก ขณะที่บริษัทผลิตถุงพลาสติกก็เริ่มทำการตลาดโปรโมทอย่างหนัก

การใช้ถุงพลาสติกเริ่มมีอิมแพคขึ้นอีกเมื่อในปี 1982 Safeway และ Kroger เชนซุปเปอร์มาเก็ตที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งในสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกแทน แม้ว่าในตอนแรกลูกค้าจะไม่ชอบเท่าไรนัก แต่ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวถูกกว่าถุงประเภทอื่น ๆ ขณะที่ร้านอื่นก็เริ่มทำตามร้านค้าทั้ง 2 แห่งนี้ ทำให้ช่วงสิ้นปี 1985 ซุปเปอร์มาเก็ต 75% มีตัวเลือกถุงพลาสติกให้ลูกค้าแต่คนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะใช้ถุงกระดาษมากกว่า จนในปี 1988 ถุงสำหรับช็อปปิ้งและใส่ของชำในสหรัฐอเมริกา 40% ทำจากพลาสติก ลูกค้าเริ่มมีมุมมองที่ดีต่อถุงพลาสติกมากขึ้น ร้านค้าปลีกก็ประหยัดต้นทุน แถมถุงพลาสติกยังมีจุดขายอยู่ที่หูหิ้วที่ถุงกระดาษยังไม่มีจนถึงยุค 1990

ทำขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่ดันกลายเป็นตัวร้าย

แม้ว่าจะมีราคาถูกกว่าและไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อนำมาทำถุง แต่ผลเสียของถุงพลาสติกก็เริ่มปรากฎให้เห็นตั้งแต่ในปี 1997 ที่นักวิจัยที่ชื่อว่า Charles Moore พบ Great Pacific Garbage Patch หรือแพขยะในมหาสมุทรที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศในน้ำ ทำให้เริ่มตระหนักรู้ว่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวนี้มีผลเสียต่อธรรมชาติ

จนในปี 2002 ประเทศบังคลาเทศเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มแบนการใช้ถุงพลาสติกชนิดบางหลังจากพบว่าทำให้ระบบระบายน้ำอุดตันที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายประเทศเริ่มกันมาทำตาม 

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติเผยว่าในปี 2011 ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านชิ้นทุก 1 นาที และเริ่มร่วมมือกันในเรื่องการลดขยะจากถุงพลาสติก แม้ว่าในช่วงโควิด การใช้ถุงพลาสติกจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงมาตรการกักตัวของแต่ละประเทศเพราะถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งช่วยป้องกันการติดโรคได้มากกว่าการใช้ซ้ำ 

ถุงผ้าจะเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่

พอถุงพลาสติกบางแบบใช้ครั้งเดียวเริ่มกลายเป็นตัวร้าย ถุงพลาสติกชนิดหนาสำหรับใช้ซ้ำและถุงผ้าเลยกลายเป็นตัวเลือกเพื่อความยั่งยืน แต่กลายเป็นว่าไปไหนก็แจกถุงผ้าและถุงพลาสติกแบบใช้ได้หลายครั้งนี้จนแต่ละคนมีอยู่คนละหลายสิบใบ เมื่อไม่ได้ใช้ซ้ำ ทางเลือกนี้จะช่วยลดขยะได้จริงไหมหรือกลายเป็นขยะเสียเอง

ในการผลิตถุงผ้าก็ใช้ทรัพยกรจำนวนมากเช่นกันเพราะฝ้ายเป็นพืชที่ต้องอาศัยน้ำในปริมาณมาก และต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รายงานจาก UNEP เผยว่า จะต้องใช้ถุงผ้าฝ้าย 50-150 ครั้งถึงจะมีผลกระทบต่อสภาพอากาศน้อยกว่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

รายงานในปี 2018 ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์กประมาณว่า ถุงผ้าฝ้ายที่เอามาใช้แทนถุงพลาสติกกันในทุกวันนี้จะต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 7,100 ครั้งถึงจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงและเป็นตัวเลือกที่ดีแทนที่ถุงพลาสติก ในรายงานพิจารณาตัวบ่งชี้ด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การทำลายชั้นโอโซน มลพิษ การใช้น้ำและพื้นที่ แต่ถ้าอยากพิจารณาที่ผลกระทบจากฝ้ายต่อสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว ก็จะเป็นจะต้องใช้ถุงผ้าซ้ำ 52 ครั้ง เป็นไปในทางเดียวกับรายงานจาก UNEP

อย่างไรก็ตาม ผลจากการประมาณอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับข้อสันนิษฐานและการคำนวณข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ผลยังไม่ได้รวมถึงการคำนวณต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกที่มนุษย์ยังไม่รู้ผลกระทบที่แน่ชัดด้วย ตัวเลขการใช้ซ้ำจึงเหมือนเป็นการวัดแบบคร่าว ๆ พอเป็นแนวทาง

นอกจากนี้ ถุงผ้าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมักจะมีลายพิมพ์อยู่ด้วย การใช้สารย้อมสี PVC ทำให้สามารถย่อยสลายได้ยากและไม่สามารถรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นการใช้ถุงผ้าที่สกรีนคำที่แสดงถึงความยั่งยืนที่พบเจอกันได้ทั่วไปยิ่งเป็นอุปสรรคให้รีไซเคิลเพื่อความยั่งยืนได้ยากขึ้นอีก

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Textile Exchange เผยให้เห็นว่า หากเป็นถุงผ้าฝ้ายแบบออร์แกนิกจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถุงผ้าโดยทั่วไป โดยทำให้โลกร้อนน้อยลง 46% ทำให้ดินและน้ำเป็นกรดลดลง 70% ใช้น้ำผิวดินและใต้ดินน้อยลง 91% และใช้พลังงานลดลง 62% 

การเปลี่ยนจากถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมาเป็นถุงพลาสติกอย่างหนาที่ใช้ซ้ำได้เองก็มีปัญหาเดียวกับถุงผ้าเพราะไม่ได้ถูกนำมาใช้ซ้ำเหมือนในอุดมคติ ขณะที่ถุงพลาสติกอย่างหนาทำมาจากวัสดุประเภทเดียวกับถุงแบบใช้ครั้งเดียวแต่มีน้ำหนักมากขึ้นเป็น 2 เท่า และจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเป็น 2 เท่าด้วยถ้าไม่ได้นำมาใช้ซ้ำ

ทางแก้ปัญหานี้ก็คือการใช้ถุงที่มีอยู่แล้วซ้ำให้ได้มากที่สุดและกระตุ้นในร้านค้าหรือธุรกิจเปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกหนา ๆ หรือถุงผ้ามาเป็นการให้ยืมแทน ผู้บริโภคที่ไม่รู้จะจะเอาถุงที่มีอยู่มากมายไปทำอะไรจะได้สามารถนำมาคืนและใช้หมุนเวียนกันได้ แม้การลดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การใช้ถุงผ้าซ้ำให้ได้มากที่สุดก็สำคัญไม่แพ้กัน

ที่มา – UNEP, CNA, CNN, Independent, Quality Logo Products Blog

อ่านบทความเกี่ยวกับ ESG เพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา