สำนักข่าวยักษใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง The New York Times (Times) ก่อตั้งมาแล้ว 169 ปี ยังอยู่ไม่ไหว เตรียมย้ายทีมหนีกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงไปเกาหลีใต้
Times เขียนบันทึกถึงพนักงานถึงประเด็นที่จีนใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ส่งผลต่อบทบาทผู้สื่อข่าวและการปฏิบัติภารกิจอย่างมาก เราต้องระมัดระวังอีกมากสำหรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ทีมข่าวในฮ่องกงราว 1 ใน 3 อาจจะต้องย้ายออกไป
ทั้งนี้ มีหลายแห่งที่ Times พิจารณาเลือก ซึ่งก็มีทั้งกรุงเทพฯ โซล สิงคโปร์ โตเกียว และเมืองอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก แต่โซล เกาหลีใต้น่าดึงดูดมากเพราะมีความเป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ สื่อมีอิสระในการนำเสนอข้อมูล และยังมีศูนย์กลางข่าวสำคัญในเอเชียด้วย
ฮ่องกงในอดีตเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เคยเป็นผู้นำในการสนับสนุนด้านสิทธิและเสรีภาพแก่สื่อในเอเชียนานนับทศวรรษแล้ว เปิดกว้างอย่างมากต่อสื่อต่างประเทศ แม้ทางบริษัทจะยังคงทีมไว้ในฮ่องกงต่อไป แต่ก็จะมีบางทีมต้องย้ายออกไปนอกฮ่องกงเพื่อความคล่องตัว ก่อนหน้านี้ พนักงานที่ฮ่องกงต้องเผชิญกับความท้าทายมาบ้าง เช่น เรื่องการยื่นขอใบอนุญาติทำงาน แต่ต่อจากนี้ ภายใต้กฎใหม่ของจีนที่เข้มข้นขึ้น เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ The New York Times ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าฮ่องกงเพิ่งจะปฏิเสธที่จะต่อใบอนุญาติทำงานให้กับพนักงานของ Times เขาคือ Chris Buckley ที่เป็นนักข่าวในจีน (ก่อนหน้านี้เขาศึกษาในจีนและทำงานเป็นนักวิจัยให้ Times ในจีนด้วย)
Goodbye China — for now. My time here is ending after 24 years. I am filled with sadness at leaving, and gratitude for family and friends who have made this country my life as well as my work. I look forward to resuming reporting soon, and also to the day when we can return. pic.twitter.com/BZLoLEG2jv
— Chris Buckley 储百亮 (@ChuBailiang) May 8, 2020
Buckley ทำข่าวแนววิพากษ์รัฐบาลจีนมาตั้งแต่ปี 2012 ทั้งบทบาทชนชั้นนำทางการเมือง การปราบปรามชาวมุสลิมในมณฑลซินเจียง ไปจนถึงการจัดการที่ผิดพลาดเรื่องโควิดระบาด เขาต้องออกจากจีนในเดือนพฤษภาคมเพราะรัฐบาลจีนไม่ต่อวีซ่านักข่าวให้เขา
นี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างการเซ็นเซอร์สื่อจากรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลอื่นที่ใช้อำนาจนำในการปิดสื่อสไตล์ Orwellian ซึ่งกรณีของ Buckley ไม่ใช่เคสแรก ยังมีนักข่าวสำนักอื่นถูกเพิกถอนใบอนุญาตเช่นกันหลังทำงานสุ่มเสี่ยง สะท้อนความจริงให้โลกเห็น นักข่าวจากหลายๆ สำนักก็เคยต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ เช่น นักข่าวจากสำนักข่าว Wall Street Journal จึงไม่น่าแปลกที่ The New York Times เลือกที่จะขยับตัวก่อน เพราะความไม่แน่นอนยังรออยู่ข้างหน้าอีกมาก
ที่มา – Nikkei Asian Review, The New York Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา