เบื้องลึกทรราชหรือเผด็จการในปัจจุบัน จริงๆ แล้วอาจเริ่มต้นมาจากการเป็นเด็กเก็บกด
ถอดบทเรียนจาก ‘นิทานกริมม์เล่มสุดท้าย’ จากเด็กเก็บกดสองคนสู่ทรราชและองครักษ์สุดเหี้ยม
ในขณะที่คนหลายคนอาจกำลังพยายามเก็บความรู้สึกโกรธ แค้น หรือการโดนหักหลัง แต่เราเคยถามตัวเองกันบ้างไหมว่า ทำไมเราถึงต้องปกปิดมันไว้?
‘นิทานกริมม์เล่มสุดท้าย’ ตัวปิดจบของคอลเลคชัน ‘นิทานกริมม์หฤโหด’ โดย ‘อดัม กิดวิทซ์’ ไม่ใช่นิทานฝันหวานที่เราเคยอ่านในตอนเด็ก และถึงแม้มันอาจจะมีเส้นเรื่องที่คุ้นเคยบ้าง แต่มันกลับไม่ได้สวยงามดั่งที่คาดหวัง
เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของหนังสือเล่มนี้นั้นเกี่ยวกับสองพี่น้องแฝดชายหญิงนามว่า ‘โยรินดา’ และ ‘โยรินเกล’ ทั้งคู่เป็นเพียงเด็กที่อาศัยอยู่กับแม่ พ่อเลี้ยง และพี่สาวต่างพ่ออีกสองคน แต่อาจจะแปลกกว่าคนอื่นตรงที่ ‘โยรินเกล’ ผู้เป็นน้องชายเคยถูกพ่อเลี้ยงฆ่าตัดหัวแต่ก็ฟื้นกลับมาได้ และ ‘โยรินดา’ ผู้เป็นพี่สาวก็ได้กลายเป็นทรราชปกครองอาณาจักรกริมม์จนคนทั้งเมืองพากันหวาดกลัว
แต่รู้หรือไม่ว่า ท่ามกลางเรื่องราวสุดสยองขวัญปั่นประสาทเหล่านี้ หากลองมองลึกเข้าไปจริงๆ หนังสือเล่มนี้ สามารถให้อะไรเราได้มากกว่าที่คิด
ความเจ็บปวดของเด็กที่เกิดจากพ่อแม่
จากคอลเลคชันนิทานกริมม์หฤโหดที่ประกอบไปด้วย ‘นิทานกริมม์หฤโหด’, ‘ในกระจกหม่นมัว’ และ ‘นิทานกริมม์เล่มสุดท้าย’ แม้เนื้อเรื่องจะต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่เหมือนอย่างเห็นได้ชัด คือตัวละครหลักจะเป็นสองพี่น้องชายหญิง และเด็กทั้งคู่จะต้องเผชิญแต่เรื่องราวโหดร้าย โดยเฉพาะจากฝีมือผู้ปกครองของตน
ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้พบกับ ‘อดัม กิทวิทซ์’ เจ้าของเรื่องผู้รับบทเป็นคุณครูท่านหนึ่งที่โยรินดาและโยรินเกลบังเอิญเจอ และในตอนนี้เองผู้อ่านจะได้รับการเฉลยว่าทำไมเขาถึงเอาแต่เล่าเรื่องสยองขวัญของเด็กๆ ให้คนอื่นฟัง
อดัมอธิบายว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในนิทานนั้นก็เกิดขึ้นกับเขาเหมือนกัน แม้เขาจะไม่เคยถูกพ่อแม่ตัดหัว แต่ความรู้สึกที่เขามีต่อพวกท่านนั้นก็ไม่ต่างจากการที่โยรินเกลโดนพ่อเลี้ยงหักหลังเลย
อดัมเผยว่า “ฉันคิดว่าเรื่องที่ทำให้ฉันโกรธ รู้สึกถูกทรยศ และไม่มีใครห่วงใยมากที่สุด คือตอนที่พ่อแม่หย่ากัน มันเจ็บปวดรวดร้าว ฉันจึงเล่านิทานบ้าๆ ที่มีการนองเลือด เพื่อช่วยให้เข้าใจและรับรู้ความรู้สึกนั้น”
แม้การแยกทางอาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับบางครอบครัว แต่ในมุมมองของเด็กคนหนึ่งแล้ว มันคงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
ปล่อยความเจ็บปวดออกมาบ้างก็ได้
หลังจากที่อดัมได้อธิบายต้นตอของนิทานสยองขวัญไปแล้ว โยรินดาและโยรินเกลก็เกิดการสงสัยว่า “แล้วทำไมเขาถึงต้องอยากรับรู้ความรู้สึกพวกนั้นด้วย?”
บางคนอาจเห็นด้วยกับเด็กทั้งสอง มันก็คงฟังดูแปลกที่ทำไมคนๆ หนึ่งถึงอยากเข้าใจความรู้สึกโกรธ การโดนหักหลัง หรือการถูกเมินเฉย ทั้งๆ ที่มันล้วนเป็นอารมณ์เชิงลบ แต่เคยลองถามตัวเองกันไหมว่า แล้วทำไมเราต้องปิดมันไว้?
จากหนังสือ เราจะได้เห็นสองพี่น้องทำอะไรห่ามๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโยรินดาที่สั่งทหารให้ฝึกซ้อมทั้งวันเพื่อเตรียมสู้กับสงคราม หรือโยรินเกลที่สั่งลงโทษผู้ใหญ่ทุกคนที่ตีเด็กในบ้าน
ในทางกลับกัน เราก็จะได้เห็นโยรินดาที่ไม่สามารถข่มตานอนได้เลยสักคืน จนต้องเอาฟูกมาต่อกันถึง 25 ชั้นเพื่อหวังว่าจะหลับสบายขึ้น และ โยรินเกลที่ยอมฝ่าขวากหนามเข้าไปยังปราสาทลึกลับที่ทุกคนหลับใหล เพื่อที่จะไม่ต้องรู้สึกอะไรอีกต่อไป
ทั้งสองเป็นเด็กที่ถูกพร่ำสอนมาไม่ให้แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ เพราะไม่เช่นนั้นความเศร้าอาจมากัดกินตนเองได้ ด้วยทัศนคติเช่นนี้ ทั้งคู่จึงกลายเป็นเด็กเก็บกด เก็บความโกรธที่มีต่อแม่ไว้ เก็บความเศร้าทุกอย่างที่เคยเจอ จนผลลัพธ์ก็คือผู้เป็นพี่กลายเป็นทรราช และผู้เป็นน้องกลายเป็นองครักษ์ที่ออกกฎร้ายแรงอย่างไร้เหตุผล
สุดท้าย เมื่อเด็กทั้งสองคิดได้ว่าการเก็บความรู้สึกไว้มากเกินไปนั้นไม่ได้ช่วยอะไร มิหนำซ้ำยังทำให้ทุกอย่างแย่กว่าเดิมอีก พอตระหนักได้เช่นนี้ ทั้งคู่ก็มีมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนไป จนทำให้หนังสือเล่มนี้จบบริบูรณ์ได้อย่างสวยงาม
ในสังคมเรายังมีเด็กอีกมากที่ต้องเจ็บปวดเพราะครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรง การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลย หรือการกดดันเด็กในปริมาณที่มากเกินไป พวกนี้ล้วนเป็นต้นตอในการสร้างบาดแผลในใจเด็กทั้งสิ้น
ที่สำคัญ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเด็กคนนั้นจะสามารถคิดได้แล้วเติบโตออกมาเป็นคนดีเหมือนโยรินดาโยรินเกลหรือเปล่า และหากเป็นคนดีได้จริงๆ กว่าจะถึงจุดนั้น เด็กคนหนึ่งต้องเจอกับอะไรบ้าง
ดังนั้น จะดีกว่าไหม หากเด็กทุกคนได้อยู่ในบ้านที่อบอุ่น บ้านที่ต่อให้ไม่มีครบทั้งพ่อและแม่ แต่ก็สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาได้ เพราะสุดท้ายแล้วเด็กคนหนึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบใด พื้นฐานสำคัญก็มาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’
ดูนิทานกริมม์เล่มอื่นๆ ได้ที่: Penguin Random House
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา