4 ประเทศร่วมมือต้านจีนในอินโด-แปซิฟิก
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ได้หารือร่วมกันในที่ประชุมสุดยอดเสมือนจริง เพื่อหารือในเรื่องความมั่นคงและประเด็นอื่นๆ ในนามของ Quad กลุ่มภาคี 4 ฝ่ายต้านจีน กลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการในด้านความมั่นคงในแถบอินโด-แปซิฟิก (กินพื้นที่ตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกจรดมหาสมุทรอินเดีย)
ประเทศทั้ง 4 ล้วนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์บาดหมางกับจีนไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ที่แข่งขันทางอำนาจกับจีนมาโดยตลอด ญี่ปุ่น เพื่อนบ้านจีนที่มีความสัมพันธ์เย็นชาและกระทบกระทั่งกันในทะเลจีนใต้ ออสเตรเลีย ที่ถูกจีนระงับการนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น ไวน์ ข้าวบาร์เลย์ และถ่านหิน จนความสัมพันธ์อยู่ในจุดตกต่ำ และอินเดีย อีกหนึ่งประเทศที่ขัดแย้งกับจีนมายาวนาน และมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในแถบเทือกเขาหิมาลายันอยู่เนืองๆ
นอกเหนือจากเรื่องความมั่นคงที่เป็นจุดโฟกัสหลักของกรอบความร่วมมือ Quad ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Joe Biden นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Scott Morrison และนายกรัฐมนตรีอินเดีย Narendra Modi ยังได้หารือในประเด็นอื่นๆ ทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติโควิด-19 และอนาคตของมาตรฐานทางเทคโนโลยี
สองเรื่องที่มีความร่วมมือออกมาอยากเป็นรูปธรรม ได้แก่
- ความร่วมมือด้านวัคซีน
- ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี
ร่วมผลิตและแจกจ่ายวัคซีน ต้านการทูตวัคซีนของจีน
4 ประเทศ ตกลงจะร่วมกันผลิตวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 พันล้านโดส เพื่อแจกจ่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และครอบคลุมถึงภูมิภาคอื่นๆ ในแถบอินโด-แปซิฟิก ภายในสิ้นปี 2022
สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่าน U.S. International Development Finance Cooperation และ Japan International Cooperation Agency สนับสนุนบริษัท Biological E บริษัทยาของอินเดียสามารถทำการผลิตวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยออสเตรเลียจะให้เงินสนับสนุนกว่า 77 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือในการจัดส่งวัคซีนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ร่วมมือด้านเทคโนโลยี สร้างห่วงโซ่การผลิตที่พึ่งจีนน้อยลง
ประเทศในกลุ่ม Quad จะสร้างทีมทำงานอีกชุดที่ดูแลเรื่องเทคโนโลยี ช่วยให้ประเทศในกลุ่มสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกันมากขึ้น ลดความเชื่อมโยงกับจีน ป้องกันการพึ่งพิงอุปกรณ์หรือวัตถุดิบที่สำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีกับจีนมากเกินไป เช่น เซมิคอนคัคเตอร์ และแร่ธาตุหายาก ที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นต้น
ที่มา – Washington Post, Nikkei Asia, SCMP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา