ไบเดนแข็งกร้าวแบบทรัมป์ ยังแบนบริษัทจีน แต่สร้างแผนดันธุรกิจเทคมาสู้ในอนาคตด้วย

สหรัฐฯ เตรียมยกระดับการมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะกังวลว่าจีนจะมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีในระดับโลกซึ่งส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ หลังบริษัทเทคโนโลยีของจีนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากการอุดหนุนไปจนถึงแทรกแซงของทางการจีน

สหรัฐฯ เพิ่มการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อสู้กับจีน

คณะกรรมการทบทวนประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐ-จีน ออกรายงานประจำปีเสนอต่อสภาคองเกรสว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรมีบทบาทสูงขึ้นในการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีจีนเข้ามาเทียบชั้นกับสหรัฐฯ ได้

เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจากสองพรรค จึงสะท้อนให้เห็นว่าทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการแทรกแซงภาคเศรษฐกิจโดยรัฐเพื่อคัดง้างกับจีนในเรื่องเทคโนโลยี

หนึ่งในข้อเสนอในรายงานฉบับนี้ คือ การตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี โดยมีตัวแทนจากทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงกลาโหม ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ สถาบันการศีกษา และประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ 

USA Flag Container Port
ภาพจาก Shutterstock

แนวทางทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ

ข้อเสนอในการเพิ่มบทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจถือว่าผิดแปลกไปจากขนบทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พอสมควร ปกติแล้ว สหรัฐฯ จะให้ภาคเอกชนแข่งขันกันพัฒนา และปล่อยให้ทิศทางเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาด โดยที่ภาครัฐมีบทบาทชี้นำในระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุดเพราะการแทรกแซงของรัฐจะขัดขวางการแข่งขันในตลาดเสรี

แต่การทะยานขึ้นของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจีน สั่นคลอนรากฐานทางความคิดของสหรัฐฯ ไม่น้อย เพราะแม้แต่สมาชิกหลายๆ คนของพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนการค้าเสรีสุดตัว ยังเห็นพ้องกับรายงานฉบับนี้ 

จีนอุดหนุนธุรกิจเทคโนโลยีมหาศาล สหรัฐฯ อาจเสียเปรียบในระยะยาว

หากสหรัฐฯ ไม่ออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ในระยะยาว สหรัฐฯ อาจต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีกับจีน เพราะปัจจุบัน รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจีนทุ่มเงินมหาศาลกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งโทรคมนาคม รถยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม และปัญญาประดิษฐ์

Michael Wessel หนึ่งในคณะกรรมการทบทวนประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐ-จีน จากพรรคเดโมแครต กล่าวหลังจากเผยแพร่รายงานว่า “ต่อจากนี้ เราไม่สามารถนั่งดูเฉยๆ และภาวนาให้ผลลัพธ์ออกมาดีได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องมีนโยบายที่เป็นยาแรงเพื่อยกระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยี”

huawei
ตัวเลขการใช้งาน HMS ของ Huawei

เป้าหมายคือสกัดจีนออกจากการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีโลก

การกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีในระดับสากล เป็นไปเพื่อสร้างค่ากลางร่วมกัน ทำให้แต่ละบริษัทผลิตสินค้าเทคโนโลยีออกมาแล้วสามารถใช้งานได้ทั่วโลก และอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น การควบคุมมาตรฐานทางเทคโนโลยีจึงมีความเป็นการเมืองไม่น้อย เพราะประเทศหนึ่งจะสามารถกำหนดวิธีการผลิตเทคโนโลยีของประเทศอื่นๆ ได้

เป้าหมายของการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดของจีนในด้านหนึ่ง คือการก้าวเข้าสู่พื้นที่ว่างทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีผู้กำหนดมาตรฐานสากลเพื่อให้ตนได้กลายเป็นหนึ่งในผู้กำหนดมาตรฐาน 

Lindsay Gorman ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจาก German Marshall Fund’s Alliance for Securing Democracy ระบุในรายงานว่า การที่โลกปรับตัวเข้ากับมาตรฐานทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำหนดโดยจีน ทำให้มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนต่ำลง

เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ จีนเสนอมาตรฐานในเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่เอื้อให้ควบคุมอินเตอร์เน็ตจากบนลงล่างได้มากขึ้น ในแง่หนึ่ง มาตรฐานนี้จะทำให้เทคโนโลยีในอนาคตเป็นปฎิปักษ์ต่อประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นมิตรต่อเผด็จการ เพราะการควบคุมและปิดปากนักเคลื่อนไหว นักข่าว หรือใครก็ตามที่ตั้งตัวต่อต้านรัฐบาลกลางสามารถทำได้ง่ายขึ้น

ที่น่ากังวลก็คือ เทคโนโลยีใหม่ๆ เชื่อมต่อโลกดิจิตอลเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้มากกว่าที่เคย ตัวอย่างเช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เทคโนโลยี 5G ระบบจดจำใบหน้า ระบบ Big Data ระบบปัญญาประดิษฐ์ 

เมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับ “ตัวตน” ของคนจริงๆ ประเด็นความเป็นส่วนตัวจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง และนี่เป็นหนึ่งเหตุผลที่สหรัฐฯ มีท่าทีหันไปลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมหาศาลเพื่อมาต่อสู้กับจีนในเวทีการกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีใหม่ๆ

Akira Amari อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของญี่ปุ่นกล่าวว่า หากมาตรฐานด้านความเป็นส่วนตัวในสินค้าเทคโนโลยีต่ำ (อย่างที่จีนสนับสนุน) สุดท้ายแล้วข้อมูลส่วนตัวของเราที่ถูกเก็บโดยเทคโนโลยีของจีนอาจจะไปอยู่ในมือของรัฐบาลจีนก็ได้ 

นโยบายเทคโนโลยีสอดคล้องกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศต้านจีน

ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการบริหารภายใต้การนำของ Joe Biden เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ล้วนแต่มีท่าทีต่อต้านจีนอย่างชัดเจน ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์และฮ่องกง ปฏิบัติการทางทหารใกล้ไต้หวัน และการมีท่าทีแข็งกร้าวในการค้าระหว่างประเทศกับจีน

Joe Biden ต่อสายคุยกับ Xi Jinping เป็นครั้งแรกเมื่อเช้านี้ เนื่องในโอกาสวันตรุษจีน เขาเน้นย้ำจุดยืนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศว่า กังวลต่อพฤติกรรมการบีบบังคับให้ถ่ายทอดและขโมยเทคโนโลยีอย่างไม่เป็นธรรม และสรุปว่านี่คือปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันในช่วงที่ผ่านมา

Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า แม้จะยังมีท่าทีไม่แน่นอนเรื่องการยกเลิกกำแพงภาษีกับจีนลง และสหรัฐฯ ก็มีท่าทีต่อต้านจีนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

แต่นโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีน เป็นแค่นโยบายต่อคู่แข่งทางยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านท่าที่อำนาจนิยม การทูตที่ก้าวร้าว การแทรกแซงทางเศรษฐกิจของทางการจีน และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา 

Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ก็มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนเช่นกัน เธอกล่าวต่อสภาซีเนทในการรับฟังเพื่อยืนยันการแต่งตั้งว่า ธอพร้อมใช้เครื่องมือทางการค้าทุกรูปแบบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันและพันธมิตรของเราจากการแทรกแซงของประเทศจีน

นอกจากนี้ เธอกล่าวว่า ยังไม่เห็นเหตุผลที่ควรถอดรายชื่อบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีนออกจาก บัญชีดำ เพราะสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐฯ เธอยังกล่าวต่อไปว่า เธอและ Anthony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศ เห็นด้วยกับการแบนการนำเข้าสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงอุยกูร์

สรุป

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ในนโยบายระหว่างประเทศทั้งในแง่การเมืองและการค้าของสหรัฐฯ จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน โดยเน้นการตั้งคำถามต่อ “มาตรฐาน” ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว 

แนวทางดังกล่าว เป็นไปเพื่อกดดันการพัฒนาเทคโนโลยีทางลัดของจีน ทั้งการละเมิดสิทธิบัตร การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการแทรกแซงบริษัท ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการลงทุนมหาศาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกโดยเฉพาะกับจีนในระยะยาวต่อไป

ที่มา – Washington Post, FT, Bloomberg, WSJ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน