ร้าน 100 เยนอาจล่มสลาย หลังเงินเยนอ่อนค่า น้ำมันแพง ต้นทุนสูงขึ้น ทุบญี่ปุ่นหนักหน่วง

คงจะน่าเสียดายไม่น้อย ถ้าสภาพเศรษฐกิจจะค่อยๆ พังทลายร้านค้าที่ผู้คนคุ้นชินและหายออกไปจากตลาดเรื่อยๆ ร้าน 100 เยนของญี่ปุ่นก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่กำลังจะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น หลังเงินเยนอ่อนค่าอย่างหนักหน่วง ราคาวัตถุดิบก็ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ต้นทุนของการจัดซื้อต่างๆ ก็มีราคาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

the-end-of-100-yen-shop

เรื่องต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นนี้ พนักงานร้าน 100 เยนยังพูดเองเลยว่า “เพราะว่ามันเป็นร้าน 100 เยน จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นราคาได้” ซึ่งจากการรายงานของ Teikoku Data Bank เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า จำนวนร้าน 100 เยนในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากเดิม 7,687 แห่งในปี 2019 เป็น 8,400 แห่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายโดยรวมของร้านญี่ปุ่น 100 เยนนี้เพิ่มขึ้นจาก 8.72 แสนล้านเยนเป็น 9.5 แสนล้านเยนในปี 2021 ค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายต่อหัวสำหรับลูกค้าเพิ่มขึ้น 1.6 เท่าเมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้ว จาก 390 เยนในปี 2011 เพิ่มเป็น 636 เยนในปี 2021

Hiroaki Watanabe นักวิเคราะห์โลจิสติกส์ระบุว่า ตอนนี้บริษัทกำลังได้รับผลกระทบจากบริษัทที่รับผลิตสินค้าซึ่งเป็นบริษัทต้นทางจากจีน จากเดิมที่มีต้นทุนต่ำ ตอนนี้ค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ผลักให้ราคาสินค้าแพงตามไปด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยราคาน้ำมันที่แพงขึ้น อัตราเงินเยนที่ต่ำลง ทำให้โมเดลธุรกิจทุกอย่าง 100 เยนน่าจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้นทุนการจัดซื้อส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจสาขาที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก

หนึ่งในจุดอ่อนของร้าน 100 เยนก็คือไม่สามารถพัฒนาสินค้าภายในได้เอง ต้องพึ่งพาร้านขายส่งที่เป็นบริษัทที่อยู่แถวเมืองอี้หวู่ (Yiwu) ในมณฑลเจ้อเจียง เขาสามารถจัดซื้อสินค้าได้โดยตรง แต่ไม่สามารถจัดการกับราคาที่เพิ่มขึ้นได้

Japan
Photo by Jezael Melgoza on Unsplash

อย่างไรก็ดี ในปี 2000 ก็เคยมีตัวอย่างการขึ้นราคาจากร้าน 100 เยนอย่างร้าน Can Do มาก่อน ด้วยการขึ้นราคาสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องหนีบผมไฟฟ้า หูฟังไร้สาย ขยับราคาขึ้นเป็น 300 เยน ทางโฆษก Can Do ก็บอกเองเลยว่า เราเริ่มขายสินค้าที่มีราคาแพงขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า พยายามลดและรักษาต้นทุนในการผลิตและจัดจำหน่ายเพื่อจะสามารคงราคาสินค้า 100 เยนได้ต่อไป ปีที่ผ่านมา ร้าน 100 เยนอย่าง Daiso ที่เปิดสาขาใหม่ในชิบูย่าก็ขายสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วยราคา 330 เยนถึง 1,100 เยน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าโมเดลธุรกิจต่อไปก็คือการหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีราคาสูงขึ้น

Bloomberg ระบุมูลค่าตลาดของร้าน 100 เยนสูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาทกำลังประสบปัญหาหลังต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่ร้านยังต้องจำกัดราคาไว้ที่ 100 เยนเช่นเดิม ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ทั้งค่าเงินที่อ่อนค่า ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ไหนจะค่าวัตถุดิบอีก จึงทำให้การคงอยู่ของโมเดลธุรกิจเช่นนี้ในภาวะแบบนี้มีความเป็นไปได้ยากสูงขึ้น ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ 100 เยนต่างพูดตรงกันว่าทำธุรกิจยุคนี้ค่อนข้างลำบาก ในอดีต ร้าน 100 เยนอาจจะรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นด้วยการเปลี่ยนขนาด ปรับปริมาณ แต่ตอนนี้มันยากขึ้นทุกทางเพราะซัพพลายเออร์ต่างขึ้นราคากันทันทีหลังจากที่คงราคาเช่นเดิมมาเนิ่นนาน

ที่มา – Japan Today, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา