เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลอย่างไรต่อคนไทย

  • เงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เปราะบาง และเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่น่าจะยังเคลื่อนไหวแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินต่างๆ โดยนักวิเคราะห์มองว่า หากเงินเยนหลุดแนวรับสำคัญที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะขยับไปได้ถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่ง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลต่อธุรกิจส่งออกไทยจากการอ่อนค่าของเงินเยน โดยรวมแล้วอาจยังมีไม่มากนัก เนื่องจากอัตราการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท ยังอยู่ในระดับกลางๆ โดยมีอีกหลายสกุลเงินที่เงินเยนอ่อนค่าในอัตราที่มากกว่า เช่น เงินด่องเวียดนาม เงินหยวนจีน เงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย เงินดอลลาร์ไต้หวัน เงินริงกิตมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งภาพนี้ก็อาจยังมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงนักในช่วงข้างหน้า 
  • คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในกลุ่มที่ไม่ค่อยจำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น อุปกรณ์กีฬา สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร น้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง เป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ที่ไทยมีความเชื่อมโยงด้านซัพพลายเชนกับญี่ปุ่น 
  • สำหรับผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นในหมวดวัตถุดิบและสินค้าทุน อาจนับเป็นจังหวะที่ดีหากต้องการขยายการผลิตหรือปรับประสิทธิภาพการลงทุน นอกจากนี้ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของคนไทยไปยังญี่ปุ่น ก็คงจะเริ่มเห็นการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นก็จะทยอยเปิดประเทศมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน
yen
ภาพจาก Shutterstock

เงินเยนอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วจนล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 134.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10 มิ.ย. 65) อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปีหรือนับจากต้นปี 2545 ทั้งนี้ นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯแล้วกว่า 16.5% อันเป็นผลจากทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและค่าครองชีพสูง ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ซ้ำเติมวิกฤตโควิด ประกอบกับผลจากเงินดอลลาร์ฯที่แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ ก็กระทบทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในอีกหลายๆ ประเทศให้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกันด้วยอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยพื้นฐานและโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขณะที่ ไปข้างหน้า นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินมองว่า เงินเยนจะยังผันผวนอ่อนค่าและหากหลุดแนวรับสำคัญที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่เงินเยนอาจขยับอ่อนค่าไปได้ถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่ง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ  

ในช่วงที่ผ่านมา เงินเยนไม่เพียงปรับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังอ่อนค่าหากเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทอีกด้วย และเนื่องจากญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ที่สำคัญของไทย โดยในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก และไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนราว 13% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากตลาดโลก ดังนั้น การปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท จึงอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการค้าโดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น

K Research

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ไทยพึ่งพาตลาดญี่ปุ่นในสัดส่วนสูง ดังนี้

  • กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพน้อย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน โคมไฟ เบาะ เก้าอี้ ของเล่น อุปกรณ์กีฬา สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคญี่ปุ่นอาจตัดลดรายจ่ายสินค้าเหล่านี้ลงเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น และในช่วงปี 2563-2564 นอกจากผลกระทบจากโควิดแล้ว การนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของญี่ปุ่นจากไทยก็มีสัดส่วนที่ลดลง แตกต่างจากจีน เวียดนาม ไต้หวัน ที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยที่เดิมก็ลดลงอยู่แล้วด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าไทยคงจะไม่ได้ถูกกระทบจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงในสินค้ากลุ่มนี้เพียงลำพัง โดยประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ที่ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังญี่ปุ่น ก็น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน
  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตร (ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง) อาหาร (เนื้อสัตว์ อาหารสัตว์) น้ำมันหอมระเหย เครื่องหอม เครื่องสำอาง โดยเฉพาะในบางรายการที่ผู้นำเข้าญี่ปุ่นอาจปรับโยกคำสั่งซื้อไปที่ประเทศผู้ส่งออกอื่นแทนไทย จากการปรับตัวของเงินเยนที่ทำให้ราคาสินค้าจากไทยแพงขึ้นมากกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ โดยแม้จัดเป็นสินค้าจำเป็นกว่ากลุ่มแรก อีกทั้งที่ผ่านมาการนำเข้าของญี่ปุ่นจากไทยอาจไม่ได้ลดลงชัดเจนและไทยยังติดอันดับต้นๆ อยู่ แต่เป็นที่สังเกตว่าญี่ปุ่นนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ในบางรายการจากบางประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสัตว์ จากจีน สหรัฐฯ อาร์เจนติน่า เกาหลีใต้ แป้งมันสำปะหลัง จากสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ เยอรมนี จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และน้ำมันหอมระเหย เครื่องหอม เครื่องสำอาง จากเกาหลีใต้ จีน สะท้อนถึงบทบาทของประเทศเหล่านี้ที่ขยับเพิ่มขึ้นและอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้ ยิ่งเมื่อเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับบางสกุลเงินอย่างวอนเกาหลีใต้ (KRW/JPY อ่อนค่าเฉลี่ย 3.1% ในช่วงต้นปีถึง 10 มิ.ย. 2565 เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปี 2564) ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD/JPY อ่อนค่า 4.2%) โครนเดนมาร์ก (DKK/JPY อ่อนค่า 2.4%) ยูโร (EUR/JPY อ่อนค่า 2.6%) ในอัตราที่น้อยกว่าเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท (THB/JPY อ่อนค่า 4.9%) หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องในช่วงข้างหน้า ก็มีโอกาสที่ญี่ปุ่นจะหันไปนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากประเทศข้างต้นมากขึ้นถ้าคุณภาพสินค้าไม่ได้แตกต่างกันและตัวแปรอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะราคาจะถูกกว่าสินค้าจากไทยโดยเปรียบเทียบ 
  • กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบจำกัดกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนได้มากกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ ขณะที่สัดส่วนสินค้ากลุ่มนี้น่าจะอยู่ที่ราว 42% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังญี่ปุ่น

K Research

ในเบื้องต้น หากพิจารณาอัตราการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับหลายๆ สกุลเงินแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศผู้ส่งออกที่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ หรืออาจจะได้รับอานิสงส์จากการปรับแหล่งนำเข้าสินค้าบางรายการของญี่ปุ่นเพื่อทดแทนตลาดอื่นๆ คงจะเป็นเกาหลีใต้ และประเทศในยุโรป ขณะเดียวกัน ประเทศที่ส่งออกกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยหรือจำเป็นน้อยไปยังญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มากและมีอัตราการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับประเทศนั้นๆ สูง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เวียดนาม เป็นต้น สำหรับไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลต่อการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นในภาพรวมคงจะยังมีไม่มากนักจากปัจจัยนี้ เนื่องจากอัตราการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาทยังอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งภาพนี้ในช่วงข้างหน้าก็ยังน่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก เพราะเงินบาทเองก็อาจยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกันอย่างน้อยจนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯใกล้จะสิ้นสุดแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่หากเทียบแล้วเงินหยวนจีนกับเงินด่องเวียดนามอาจจะค่อนข้างนิ่งกว่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินเยนเมื่อเทียบกับทั้งสองสกุลดังกล่าวน่าจะอ่อนค่าในอัตราที่มากกว่า

yen
ภาพจาก Shutterstock

และหากมองในฝั่งการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยจากญี่ปุ่น อาจนับว่าเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เตรียมจะขยายกำลังการผลิตหรือเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นหมวดเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ และพลาสติก เป็นต้น ที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากญี่ปุ่นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของคนไทยไปยังญี่ปุ่น อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว สายการบิน ธุรกิจรับแลกเงิน เป็นต้น ก็คงจะเริ่มเห็นการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นก็จะทยอยเปิดประเทศตามลำดับ ขณะที่ญี่ปุ่นนับเป็นจุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยมเดินทางไปเป็นอันดับต้นๆ โดยก่อนการระบาดของโควิดในปี 2562 คนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากถึง 1.15 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 11% ของจำนวนคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา