The Economist ยก “สี จิ้นผิง” เป็นผู้นำทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลกเหนือโดนัล ทรัมป์

จีนภายใต้ยุคสี จิ้นผิงเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ราบรื่น เป็นอย่างที่ว่ากันคือ อเมริกาหันเข้า จีนหันออก ล่าสุด The Economist ถึงกับบอกว่าสี จิ้นผิงคือผู้นำทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลกเหนือโดนัล ทรัมป์

Xi Jinping Photo: flickr.com by Casino Connection

สี จิ้นผิง ผู้นำทรงอิทธิพลของโลก

จีนในโลกยุคสมัยใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจในโลกแทบทุกด้าน The Economist ถึงกับยกให้เป็น “ผู้นำทรงอิทธิพลสูงสุด [ของโลก]” อันที่จริงแล้ว คำพูดนี้ดัดแปลงมาจากคำให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ที่เคยพูดถึงผู้นำจีนคนปัจจุบันของจีนไว้ว่า “[สี จิ้นผิง]น่าจะเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในรอบ 100 ปี”

แต่ไม่ใช่แค่ทรัมป์คนเดียวเท่านั้นที่พูดยกย่องจีน ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าก็เคยพูด เช่น ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เคยพูดถึงประธานาธิบดีเหมาไว้ว่าผู้นำคนนี้เป็นคนที่เปลี่ยนโลก หรือประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ก็เคยพูดถึงประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิงไว้ว่า ท่านเป็นคนที่ฉลาด แข็งแกร่ง อัจฉริยะ ตรงไปตรงมา กล้าหาญ เป็นตัวของตัวเอง และเป็นกันเอง

ทีนี้ มาลองพิจารณากันทีละด้านว่าทำไม The Economist ถึงยกให้สี จิ้นผิง เป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก

เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้นำ

แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจของจีนจะยังเป็นที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยอัตราเร่งของจีนที่หมุนอย่างรวดเร็ว อีกไม่นานก็น่าจะแซงสหรัฐอเมริกาได้

  • แม้ว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาจะยังทรงอิทธิพลทางอำนาจมากที่สุดในโลก แต่ทรัมป์ ผู้นำคนปัจจุบันกลับอ่อนแอในทางการระหว่างประเทศ ประสิทธิภาพไม่สูงเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ทรัมป์มักแสดงท่าทีไม่เป็นมิตร โดยมักจะพูดในเชิงลดคุณค่าและดูถูกชาติพันธมิตรอยู่เสมอๆ
  • ในขณะที่จีน สีเป็นผู้นำที่เดินทางไปทั่วโลก กระชับมิตรกับชาติต่างๆ อย่างแน่นแฟ้น อาจเรียกว่าเหนียวแน่นที่สุดหลังจากยุคของประธานาธิดีเหมาเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้น สียังใส่ใจกับเรื่องการค้าเสรีเป็นอย่างมาก เพราะเคยพูดไว้ว่าจีนต้องการเป็น “ผู้ชนะในยุคโลกาภิวัตน์” แต่ในทางกลับกันผู้นำโลกเสรีอย่างทรัมป์พูดแต่เพียงว่า America First
  • รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทรัมป์ยังมีท่าทีไม่ใส่กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สะท้อนให้เห็นจากการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกา ส่วนจีนที่นำโดยสี ยืนกรานจับมือสหภาพยุโรปเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป
  • การลงทุนในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จีนภายใต้ยุคของสี ลงทุนในสเกลใหญ่หลายอย่าง เช่น ทางรถไฟ ท่าเรือ สถานีไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็นโครงการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ระหว่างยุโรป-เอเชีย ที่ชื่อ One Belt One Road ส่วนอเมริกานิ่งเฉย ไม่ได้สนใจต่อโครงการระหว่างประเทศ เพราะ America First แต่เท่าที่เห็นคือโครงการเล็กๆ ที่ร่วมด้วยในยุโรปเท่านั้น

การทหาร

หากมองในแง่ขนาด ด้านการหทารของจีนก็ต้องนับว่าเป็นรองสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมองเหมือนกันคือท่าที จีนในยุคสี แม้จะมีการขยายอิทธิพลทางการทหารไปในต่างประเทศ เช่นปีนี้จีนมีการขยายฐานกองทัพไปในประเทศจิบูตี แถบแอฟริกาตะวันออก แต่นโยบายสำคัญคือจะไม่รุกรานใครก่อน เน้นการรักษาความสงบ เป็นการทหารเชิงรับมากกว่าเชิงรุก เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่ของจีนอาจจะไม่ใช่ตัวจีนเอง แต่คือพันธมิตรอย่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย โดยเฉพาะเกาหลีเหนือที่มักก่อเรื่องให้เกิดปัญหาความวิตกกังวลในระดับโลกอยู่ไม่น้อย

อำนาจทรงอิทธิพลมาพร้อมกับการรวมศูนย์และจับจ้องประชาชน

แม้ว่า The Economist จะยกให้สีเป็นผู้นำทรงอิทธิพลของโลก แต่ก็ได้เตือนไว้ว่าภายใต้ยุคของสี การรวมศูนย์อำนาจเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นมากขึ้น ถนนทางอำนาจทุกสายพุ่งตรงมายังตัวประธานาธิบดีจีน แม้การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนในจีนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล แต่สีต้องการควบคุมและสอดส่อง มากกว่านั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนต้องเติบโตไปในทางที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นดีเห็นงามด้วยเท่านั้น

สีมองว่าการบริหารประเทศของเขาเป็น “New Normal” ที่น่าสนใจคือ อำนาจอันล้นฟ้าของเขาอาจจะทำให้เขาไม่อยากลงจากอำนาจในปี 2022 ก็เป็นได้

แต่สำหรับการเมืองและเศรษฐกิจโลกตอนนี้ เรากำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติเสรีมหาอำนาจที่โดดเดี่ยวตัวเอง กับ ชาติเผด็จการมหาอำนาจที่พยายามเข้าถึงทุกคน

ที่มา – The Economist

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา