บทวิเคราะห์: อเมริกาหันเข้า จีนหันออก เทียบนโยบายสีจิ้นผิง vs ทรัมป์

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจถือเป็นการกำหนดชะตาของทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกในปี 2017 เลยก็ว่าได้ เพราะสองผู้นำโลกทั้งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ต่างก็กล่าวสุนทรพจน์สำคัญที่จะกำหนดแนวทางเดินของประเทศตัวเองตลอดทั้งปีนี้

สี จิ้นผิง ขึ้นเวที World Economic Forum 2017 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของเหล่าผู้นำโลก และถือเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของประธานาธิบดีจีนบนเวทีดาวอสด้วย หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ ในโอกาสการสาบานตนรับตำแหน่งของเขาเมื่อวันที่ 20 มกราคม

สุนทรพจน์ของทั้งสองเรียกได้ว่าไปกันคนละทาง และนี่คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นทิศทางที่แตกต่างกันของอเมริกาและจีน

ภาพจาก The White House Facebook

Donald Trump: อเมริกาต้องมาก่อน

ถ้าให้สรุปการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงสั้นๆ ก็ต้องอ้างอิงคำว่า “America First” อเมริกาต้องมาก่อน คำนี้จะเป็นตัวกำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกาในอีก 4 ปีต่อจากนี้ไป

เนื้อหาในสุนทรพจน์ของทรัมป์ ไม่ต่างอะไรจากคำหาเสียงของเขานัก เขาตอกย้ำว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อเมริกาช่วยให้ธุรกิจต่างชาติเติบโตร่ำรวย แต่ธุรกิจของอเมริกาเองกลับซบเซา, สนับสนุนกองทหารอเมริกันไปทำภารกิจทั่วโลก แต่คนอเมริกันเองที่ต้องแบกรับภาระไว้ และจ่ายเงินมหาศาลให้กับคนนอกประเทศ แต่สาธารณูปโภคพื้นฐานของอเมริกากลับทรุดโทรมและไม่ได้รับการบำรุงรักษา

รัฐบาลของเขาจะออกนโยบายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า ภาษี การต่างประเทศ โดยอยู่บนหลักการว่าประชาชนชาวอเมริกันต้องได้ประโยชน์ อเมริกาภายใต้ยุคของเขาจะนำความมั่งคั่งและตำแหน่งงานกลับคืนสู่ประเทศ คนอเมริกันจะไม่ถูกลืมและไม่ถูกทอดทิ้งโดยรัฐบาลของพวกเขาอีกต่อไป

ทรัมป์ประกาศชัดว่าจะยืนอยู่บนนโยบาย 2 ข้อคือ ซื้อของอเมริกัน และจ้างคนอเมริกัน (We will follow two simple rules: Buy American and hire American.)

เขาบอกว่าอเมริกาจะยังเป็นมิตรที่ดีกับทุกประเทศ แต่ขอให้ทุกประเทศก็รู้ไว้ว่าเป็นสิทธิของอเมริกาที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นอันดับแรก เขายังบอกว่าตอนนี้ถึงเวลาลงมือทำแล้ว เราจะไม่ยอมรับนักการเมืองที่ดีแต่พูด เพราะการพูดอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร

ทรัมป์บอกว่าอเมริกาต้องรวมกันให้เป็นหนึ่ง และถ้ารวมกันได้ ก็จะไม่มีใครหยุดยั้งความยิ่งใหญ่ของอเมริกาได้ นี่คือยุคสมัยใหม่ของอเมริกาในสหัสวรรษใหม่ ที่เตรียมมุ่งสู่อวกาศ แก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ และพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม พลังงานแบบใหม่ๆ

ปาฐกถารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์

ภาพจากก World Economic Forum / Valeriano Di Domenico

Xi Jinping: จีนเปิดประตูสู่โลก และเราจะไม่ปิดประตูบานนี้

ในขณะที่ทรัมป์ มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ มุมมองของสีจิ้นผิงกลับแตกต่างออกไป ประเด็นหลักที่เขานำเสนอคือเรื่องเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ “โลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ” (economic globalization) ที่เขาตอกย้ำหลายครั้ง แสดงให้เห็นความทะเยอทะยานของจีนที่จะช่วงชิงการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลก

ประธานาธิบดีสี บอกว่าถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาหลายอย่าง แต่ข้อดีของมันก็มีมากมายมหาศาล แม้ว่าคนยุคปัจจุบันจะตั้งคำถามต่อระบบเศรษฐกิจ จีนต่างหากที่เคยไม่เชื่อเรื่องนี้มาก่อน และไม่กล้ากระโจนเข้าสู่ตลาดทุนนิยมเต็มตัวอยู่นาน แต่หลังจากจีนกระโดดเข้าสู่ตลาดโลก ก็พบว่าตัวเองคิดถูก เพราะสามารถพัฒนาประเทศมาถึงขนาดนี้ด้วยพลังเศรษฐกิจนั่นเอง

สีบอกว่านโยบายของจีนจะเน้นทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศและนอกประเทศไปพร้อมกัน

สำหรับนโยบายในประเทศ ถึงแม้ช่วงหลังเศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้าลง แต่อัตราการเติบโตก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนปัญหาภายในประเทศในหลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องแก้ไขกันไป เศรษฐกิจภายในประเทศจีนยังมีศักยภาพให้พัฒนาต่อได้อีกมาก จีนจะใช้แนวทางใหม่ที่เน้นนวัตกรรม เปิดกว้าง ปรับปรุงคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาพัฒนาประเทศในช่วงต่อไป

ส่วนนโยบายต่างประเทศ สีอธิบายว่าแนวคิดทุนนิยมและเศรษฐกิจระบบตลาด ช่วยให้คนจีนหลายร้อยล้านคนพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ และโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจจีนก็เป็นตัวอย่างที่ดีต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จีนรู้ดีว่าจะเอาชนะความยากจนได้อย่างไร และอยากช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน

สีบอกว่าจีนจะเปิดตลาดในประเทศให้มากกว่าเดิม เปิดรับนักลงทุนต่างชาติ สร้างเขตการค้าเสรี ปรับการกำกับดูแลให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน จีนก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศ นักท่องเที่ยวจีนออกไปใช้จ่ายเงินนอกประเทศ ช่วยสร้างตลาดและโอกาสธุรกิจให้กับประเทศอื่นๆ มหาศาล

จีนยืนยันว่าจะเปิดประตูสู่โลกต่อไป และไม่ปิดประตูนี้ลง (China will keep its door wide open and not close it.) ประตูแห่งนี้จะคอยเชื่อมต่อจีนกับชาวโลก และหวังว่าโลกจะเปิดต้อนรับจีนเช่นกัน

ด้านกรอบความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ จีนจะผลักดันความร่วมมือ 2 กลุ่มคือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) รวมถึงเดินหน้าโครงการเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ระหว่างยุโรป-เอเชีย One Belt One Road ที่ประธานาธิบดีสี เคยประกาศไว้ในปี 2013 ด้วย ซึ่งตอนนี้โครงการก็คืบหน้าไปมาก และมีประเทศพันธมิตรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ปาฐกถาฉบับเต็มของ Xi Jinping

ภาพจาก The Economist

บทวิเคราะห์: อเมริกาหันเข้า จีนหันออก

คำประกาศของทรัมป์ชัดเจนว่า เขามุ่งจะแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นหลัก และท่าทีของเขาในช่วงก่อนรับตำแหน่งก็ชี้ชัดว่า เขามุ่งสร้างตำแหน่งงานในประเทศให้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยกดดันให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งของอเมริกาเองและธุรกิจต่างชาติ สัญญาว่าจะเข้ามาประกอบธุรกิจและจ้างงานในสหรัฐ

ในช่วงแรกของรัฐบาลทรัมป์ ย่อมจะสนใจเฉพาะปัญหาในประเทศเป็นหลัก เขาพูดถึงนโยบายการต่างประเทศเพียงว่าจะต่อสู้กับ “กลุ่มอิสลามหัวรุนแรง” เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้พูดถึงพันธมิตรต่างประเทศรายอื่นๆ เลย อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทรัมป์ช่วงก่อนหน้านี้ก็ประกาศชัดเจนว่าจะถอนตัวออกจากความร่วมมือ TPP ที่เป็นเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก

เราคงพอสรุปได้ในภาพรวมว่า ทรัมป์จะเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยนโยบายการดึงธุรกิจต่างประเทศไปสร้างงานในอเมริกา ในขณะที่งานด้านต่างประเทศจะไม่เน้นมากนักเมื่อเทียบกับรัฐบาลโอบามาที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องนี้ และในแง่การค้าระหว่างประเทศ ก็เป็นความท้าทายของธุรกิจชาติอื่นๆ ในการขายสินค้าและบริการให้กับธุรกิจอเมริกัน-ชาวอเมริกัน ที่น่าจะหันไปใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น

ในทางตรงข้าม นโยบายของสีจิ้นผิง เน้นการออกสู่ตลาดโลกอย่างเต็มที่ จะเรียกว่าฉวยจังหวะจากที่อเมริกาหันไปสนใจปัญหาภายในก็คงไม่ผิดนัก (แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จีนก็ออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพียงแต่การเปลี่ยนรัฐบาลของอเมริกา จะยิ่งส่งผลให้นโยบายของจีนชัดเจนกว่าเดิมมาก)

ทิศทางการขยายออกสู่ต่างประเทศของจีนก็ยังคงไปในทางเดิม นั่นคือเน้นการไปลงทุน ประกอบการค้ากับประเทศต่างๆ และอาศัยพลังทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาของจีน ช่วยบีบให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ไม่มีอเมริกาที่แข็งแกร่งมาคอยคานอำนาจทางการทูตหรือการต่างประเทศ

ในระยะสั้น ทั้งสองประเทศคงต่างคนต่างอยู่ ต่างทำนโยบายของตัวเองไปอีกสักพักใหญ่ๆ และคงหลีกเลี่ยงที่จะกระทบกระทั่งกันโดยตรง ส่วนประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศขนาดเล็ก และต้องพึ่งพายักษ์ใหญ่ทั้งสองต่อไป ก็คงต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม จากการอ่านสถานการณ์และทิศทางว่ายักษ์ใหญ่ทั้งสองจะมุ่งไปในทิศทางใดนั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา