[วิเคราะห์] เหตุผลที่ไทยรัฐออนไลน์เปิดตัว “ไทยรัฐพลัส” กับทางรอดของสื่อดิจิทัลในยุคทุนนิยม

คนที่ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นประจำ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาน่าจะเห็นโลโก้ T และมีสัญลักษณ์บวก นั่นคือ ไทยรัฐ พลัส หรือ Thairath+ สื่อดิจิทัลน้องใหม่จากไทยรัฐออนไลน์และไทยรัฐกรุ๊ป ที่มาพร้อมกับแนวคิด We Speak to Spark+

thairath plus

จากสื่อสิ่งพิมพ์ถึงออนไลน์ จากการรายงานข่าวถึงการสร้างกระแสในสังคม

ไทยรัฐออนไลน์ ภายใต้ บริษัท เทรนด์ วีจี3 จํากัด ถือเป็นหนึ่งในเว็บสื่อภาษาไทยที่ติดอันดับ 1 ด้านยอดผู้เข้าชมต่อวัน แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีสื่อออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่โดดเด่นในปัจจุบัน เช่น เดอะ สแตนดาร์ด, เวิร์คพอยท์ทูเดย์ เป็นต้น ซึ่งหากวัดในเชิงยอดผู้ชมแล้ว ไทยรัฐออนไลน์ ยังสูงกกว่าแต่ในด้านกระแส Talk of the Town การถูกพูดถึงหรือหยิบยกขึ้นมา อาจจะลดน้อยลงไป

ดังนั้นในมิติแรก การเกิดขึ้นของ ไทยรัฐ พลัส มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการ “ปรับ” และนำมาสู่การ​ “เปิด” ตัวสื่อดิจิทัลที่โดนใจผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ตอบพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องเสนอทุกข่าว ไม่นำเสนอข่าวชาวบ้าน แต่เน้นเรื่องที่มีผลกระทบกับคนรุ่นใหม่ และ “สร้างกระแสการพูดคุย” ขึ้นในสังคม

ดังนั้น เราอาจไม่ได้เห็นข่าวรายวันใน ไทยรัฐ พลัส แต่จะเห็นการตั้งคำถาม การวิเคราะห์ การชวนคิดชวนคุย ในประเด็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ

ชิมลาง Subscription อาจเป็นทางรอดของสื่อยุคทุนนิยม

ในแถลงการณ์การเปิดตัวของไทยรัฐ พลัส มีจุดที่น่าสนใจ โดยระบุว่า

งานสื่อเป็นงานที่ย้อนแย้งในตัว ยอดผู้ชมที่สูงลิ่วเพราะไวรัล ไม่ได้สะท้อนว่าคนต้องการเนื้อหาเหล่านั้นเสมอไป ขณะเดียวกัน เนื้อหาสื่อที่มีคุณภาพในแบบที่คนอยากเห็น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันความอยู่รอด

นี่คือความเป็นจริงในธุรกิจสื่อ ข่าวที่มีคนอ่านมากที่สุด ได้ยอดวิวจำนวนมาก ไม่ได้หมายความว่าเป็นข่าวที่เนื้อหาดีสะท้อนมุมมองและความต้องการของสังคม และการทำข่าวเนื้อหาดีมีคุณภาพ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันทั้งยอดวิว และความอยู่รอดทางธุรกิจ

ดังนั้น ไทยรัฐพลัส จึงประกาศชัดเจนว่า จะทดลองใช้ “ระบบสมาชิก” ในการอ่านข่าว หากเข้าอ่านตามปกติจะมีการกำหนดโควต้าการอ่านในแต่ละวัน แต่หากสมัครสมาชิกและ Login ก็จะอ่านได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นการกำหนดราคาค่าสมาชิกแต่ในอนาคตก็เป็นไปได้ เพื่อให้ ไทยรัฐ พลัส ได้เป็นสื่อของคนอ่านอย่างแท้จริง ตามที่ประกาศไว้

thairath plus
ภาพจากเว็บ thairath plus

เพราะสื่อยุคปัจจุบันพึ่งพิงอยู่กับ “ทุน” มากเกินไป

ต้องยอมรับว่าในยุคทุนนิยม สื่อ ก็เป็นธุรกิจที่ต้องสร้างรายได้เพื่อความอยู่รอด โดยพึ่งพิงอยู่กับ “ค่าโฆษณา” เป็นหลัก เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลกจนกระทั่งเกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง ทั้ง Facebook และ Google ที่มากินส่วนแบ่งค่าโฆษณากว่า 70% ไป

และถึงไม่มี Facebook และ Google ก็ตาม สื่อก็ถูกคุกคามโดยทุนมาโดยตลอดอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดว่า ระบบสมาชิก อาจเป็นทางออกสำหรับสื่อในยุคใหม่ นั่นคือ การให้ผู้อ่านสนับสนุนรายได้ให้กับสื่อ เพื่อให้สื่ออยู่รอดได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงโฆษณาจากทุน ซึ่งสื่อในไทยที่เริ่มหันมาใช้วิธีนี้มากขึ้น เช่น VOICE TV หรือสื่อออนไลน์อย่าง SpokeDark TV ก็มีความพยายามในจุดนี้เช่นกัน

สำหรับในต่างประเทศ ตัวอย่างที่สะท้อนความสำเร็จของระบบสมาชิกได้ดีมาก คือ New York Time ที่ราคาสมาชิกประมาณ 2 ดอลลาร์/สัปดาห์ (แต่ก็ลดราคาอยู่เรื่อยๆ เช่น 0.25 ดอลลาร์/สัปดาห์) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกหลายล้านคน และทำให้สื่ออีกหลายรายทั่วโลกเริ่มใช้โมเดลเดียวกัน หรือ The Athletic สื่อกีฬา ที่มีบทวิเคราะห์ ข่าววงใน เบื้องลึกเบื้องหลังในวงการกีฬา กับค่าสมาชิกประมาณ 5.99-7.99 ดอลลาร์/เดือน ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำออกมาได้ดี

แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องบอกว่า สื่อภาษาอังกฤษในต่างประเทศ มีฐานคนอ่านที่จะมาเป็นสมาชิกได้หลายร้อยล้านคนจากหลายสิบประเทศ จึงมีความเป็นไปได้มากที่จะมีสมาชิกที่ยอมจ่ายเงิน (ซึ่งก็ถือว่าราคาไม่สูง) เป็นจำนวนมาก

แล้วทางออกสำหรับประเทศไทย?

ต้องยอมรับอีกว่า ประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน เป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้ภาษาไทย จำนวนฐานคนอ่านมีน้อยลงกว่านั้นอีก ฐานคนอ่านที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนสื่อก็น้อยลงไปอีกเช่นกัน หลายคนมีความเชื่อว่าเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเป็นของฟรี ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน รวมถึงสื่อเองก็มีเนื้อหาไม่แตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเนื้อหาก็ได้

ปัจจัยทั้งหมด ทำให้ผู้ที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อสมัครสมาชิกจึงมีจำนวนน้อย

นอกจากโมเดลสมาชิกแล้ว ก็ยังมีโมเดลอื่นๆ ที่มีการศึกษาในต่างประเทศ เช่น การให้เงินสนับสนุนโดยรัฐเพื่อให้สื่อทำงานได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น (แต่น่าจะเป็นคำถามในไทยว่า สื่อจะเป็นอิสระจริงหรือไม่) แต่วิธีการไหนจะทำได้สำเร็จในประเทศไทย ก็ต้องมีคนเริ่มทดลองนำไปใช้จริง

ไม่แน่ว่า ไทยรัฐ พลัส สื่อดิจิทัลน้องใหม่จากไทยรัฐออนไลน์และไทยรัฐกรุ๊ป อาจเป็นสื่อแรกในไทยที่ทำระบบสมาชิกได้สำเร็จก็เป็นได้

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา