ไปรษณีย์ไทย 2024: มองพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นคู่แข่ง ไม่ทำแพลตฟอร์มขายออนไลน์ หวังรัฐกำกับขนส่งต่างชาติ

ระยะหลัง ไปรษณีย์ไทย เริ่มกลับมาคืนฟอร์มเก่งอีกครั้ง ผ่านการเร่งปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงสัดส่วนรายได้ พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน ถึงขนาด ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บอกว่า คู่แข่งไปรษณีย์ไทยตอนนี้คือพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ใช่ธุรกิจรายไหน

ยิ่งล่าสุด ไปรษณีย์ไทย กลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2023 หลังขาดทุนอย่างหนักตลอดเวลา 2 ปี ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า การปรับตัวครั้งใหญ่ช่วยให้องค์กรกลับมาแข็งแกร่ง และเติบโตอย่างยั่งยืน แถมในปี 2024 หวังมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าจากที่ทำได้ในปี 2023

แผนธุรกิจในปี 2024 ของ ไปรษณีย์ไทย จะเป็นอย่างไร และรายละเอียดการปรับโครงสร้างองค์กร และสัดส่วนรายได้ในปี 2023 ออกมาในรูปแบบไหน Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดังนี้

ไปรษณีย์ไทย

คู่แข่งไปรษณีย์ไทย คือพฤติกรรมผู้บริโภค

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันคู่แข่งของไปรษณีย์ไทยคือพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะหากทำแล้วประสบความสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับธุรกิจไหน ยิ่งผลิตภัณฑ์ และบริการของไปรษณีย์ไทยนั้นอยู่กับคนไทยโดยตรง การแข่งกับพฤติกรรมลูกค้าก็ยิ่งจำเป็น

“เราอยู่กับลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบงานบริการ จึงนำ SLA หรือข้อกำหนดในการให้บริการคงไม่พอ เช่น ส่งวันนี้ถึงวันไหน แต่ต้องครอบคลุมทั้งบริการหลังการขาย และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันเราตรวจสอบเรื่องนี้ตลอด 24 ชม. และถ้าเทียบกับคู่แข่ง เราชนะพวกเขาถึง 95% ในเรื่องงานขนส่ง หรือส่งได้ดี และเร็วกว่า”

ปัจจุบันธุรกิจขนส่งโลจิสติกคิดเป็น 45% ของรายได้ รองลงมาเป็นกลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96% และรายได้อื่น ๆ 1.30% โดยในปี 2024 สัดส่วนทั้งหมดยังใกล้เคียงเดิม

ไปรษณีย์ไทย

ปี 2023 ลดต้นทุน 2,000 กว่าล้านบาท

ในปี 2023 ไปรษณีย์ไทย ลดต้นทุนการบริหารจัดการได้กว่า 2,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการลดพนักงาน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพทางการขนส่ง ซึ่งในปี 2024 จะมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปี 2023 บริษัทไม่มีการให้โบนัสพนักงาน แต่ขึ้นเงินเดือนให้ตรงตามขั้นสูงสุด หรือ 7.5%

“ต้นทุนการขนส่งเราลดลงเยอะมาก หรือราว 30% ซึ่งจุดนี้เองเมื่อรายได้มันเพิ่ม ต้นทุนลดลง ทำให้ ไปรษณีย์ไทน พลิกมีกำไรสุทธิปี 2023 ที่ 78 ล้านบาท ผ่านการมีรายได้รวม 20,934 ล้านบาท และในอีก 3 ปี ต้องการเป็น Trusted Sustainable Asean Brand หรือแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถืออย่างยั่งยืนในอาเซียน”

อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ไปรษณีย์ไทย ปี 2022 มีรายได้รวม 19,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท ปี 2021 มีรายได้รวม 21,226 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,730 ล้านบาท ส่วนปี 2020 มีรายได้รวม 23,712 ล้านบาท กำไรสุทธิ 238 ล้านบาท

ไปรษณีย์ไทย

ดันรายได้ธุรกิจรีเทล แต่ไม่ทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ขณะเดียวกันปี 2024 ไปรษณีย์ไทย มีแผนขยายธุรกิจค้าปลีก และการเงินเพิ่มเติม หลังปี 2023 ธุรกิจดังกล่าวเติบโต 35% สามารถทำรายได้แตะรับ 1,000 ล้านบาท ผ่านสินค้าเช่น น้ำดื่ม, กาแฟ และข้าว ที่จำหน่ายได้กว่า 20 ล้านบาท ซึ่งสินค้าทั้งหมดมาจากวิสาหกิจชุมชน ช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยในไทยอีกทาง

“ด้วยโครงข่ายของไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ดี ผู้ซื้อก็สั่งได้ง่าย ๆ ผ่านบุรุษไปรษณีย์ ไม่เสียค่าส่ง เพราะเราอาศัยเครือข่ายรถขนส่งที่ต้องวิ่งในเส้นทางต่าง ๆ ทุกวันอยู่แล้ว แต่ด้วยเราไม่ได้โตจากการเป็นบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้นเราคงไม่ทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นของตัวเอง แต่จะใช้วิธีแบบที่เราถนัดดีกว่า”

โครงข่ายไปรษณีย์ไทยไม่ได้มีแค่ช่องทางดั้งเดิม หรือ Psysical แต่ยังมีช่องทางดิจิทัลเช่นกัน ผ่านการทำตลาดระบบจัดการเอกสารดิจิทัล โดยในไตรมาส 3 ปี 2024 จะเปิดตัวดิจิทัลเมลบ็อกซ์ เพื่อเป็นช่องทางรับจดหมายที่ผสานระหว่างดิจิทัลกับกล่องจดหมายดั้งเดิม กล่าวคือเมื่อมีจดหมายมาส่งที่บ้าน จะมีการแจ้งเตือนผ่านช่องทางดิจิทัลด้วย

ไปรษณีย์ไทย

วอนรัฐช่วยจัดระเบียบอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุ

ดนันท์ ย้ำว่า แม้ไปรษณีย์ไทยจะกลับมามีกำไร แต่น่าจะดีกว่าถ้าภาครัฐหันมาจัดระเบียบอุตสาหกรรมขนส่งให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ มีความต้องการใช้งานไปรษณีย์ไทย แต่ด้วยตัวแพลตฟอร์มไม่เปิดให้เชื่อมต่อ กลายเป็นการสูญเสียโอกาสทั้งผู้ค้า และบริษัทเอง

“เรามีลูกค้ากลุ่มใหญ่ ๆ ที่ขายออนไลน์ และอยากใช้งานไปรษณีย์ไทย แต่อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มไม่เปิดให้ ซึ่งเราพยายามเจรจากับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยตัวเองแล้ว แต่ถ้าอุตสาหกรรมไม่มีการกำกับกันแบบนี้มันก็ไม่แฟร์ เพราะเราถูกกีดกัน และไม่เป็นธรรมกับผู้ค้าเอง”

ปัจจุบันการรับบริการขนส่งผ่านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วน 25-30% ของการขนส่งพัสดุทั้งหมดของ ไปรษณีย์ไทย และทางบริษัทเห็นว่า หากไม่มีการลงมากำกับชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โอกาสการกระทบความมั่นคงของชาติเกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกอาจเกิดขึ้นได้

ไปรษณีย์ไทย

ปั้นรายได้เติบโต 10% ปิดที่ 22,000 ล้านบาท

จากกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปทำให้ ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าทำรายได้ 22,000 ล้านบาท ในปี 2024 หรือเติบโต 10% จากปีก่อน และเตรียมลงทุนหลักพันล้านบาทเพื่อปรับเปลี่ยนสายส่ง เช่น ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 250 คัน ในการนำจ่ายพื้นที่ Last Mile และจะทยอยปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง

“การใช้รถยนต์ไฟฟ้าช่วยให้เราประหยัดค่าเชื้อเพลิงกว่า 70% แม้ราคาจะค่อนข้างสูงแต่ในอนาคตยังมีความคุ้มค่า ส่วนในมุมรถขนส่งขนาดใหญ่เราคงยังไม่นำมาใช้ เพราะชาร์จค่อนข้างนาน ยังไม่เหมาะกับการบริหารจัดการ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นแค่กลุ่ม Last Mile มากกว่า”

ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทย มีบุรุษไปรษณีย์ 25,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 40,000 คน และยังเน้นดำเนินธุรกิจการขนส่งแบบที่มีอยู่ ยังไม่ก้าวไปสู่ออนดีมานด์ หรือส่งทันที เนื่องจากไม่ถนัด และอาศัยการร่วมมือกับแพลตฟอร์มการขนส่งอาหารบางรายเพื่อนำบุรุษไปรษณีย์ไปช่วยวิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนมากกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา