ไร้กังวล กระทรวงแรงงานยืนยัน อัตราว่างงานของไทยลดลง ล่าสุดเหลือเพียง 1% เท่านั้น

โฆษกของกระทรวงแรงงานยืนยันว่าอัตราว่างงานของไทยลดลง ล่าสุดเหลือเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

Thailand Worker
ภาพจาก Shutterstock

อภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึง สถานการณ์แรงงานของไทยล่าสุดว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.42 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.78 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นแรงงานที่ทำงาน ทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิตและภาคบริการ และการค้า และเป็นผู้ว่างงาน 3.77 แสนคน หรือร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ถ้าหากเปรียบเทียบ กับไตรมาส 2 ของปี 2561 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.4 หมื่นคน

โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องของสถานการณ์แรงงานไทยกับทาง PPTV ว่า เรื่องของสถานการณ์แรงงานไทยไม่ดีขึ้น มีการเลิกจ้าง รวมไปถึงการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุงาน (Early Retire) นอกจากนี้มนัสยังได้กล่าวเสริมว่า หลายอุตสาหกรรมไม่สามารถอุ้มกิจการต่อไปได้ และอาจมีการเลิกจ้างงานในท้ายที่สุด

โฆษกกระทรวงแรงงาน ยังได้กล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า “ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานไม่รุนแรงและน่ากังวล นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังมองว่าเรื่องนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง โดยได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานวางแนวทางช่วยเหลือให้ผู้ว่างงานหลายช่องทาง”

อย่างไรก็ดีเรื่องของอัตราว่างงานที่ต่ำนั้นเคยมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้มาแล้ว โดยบทความจาก Bloomberg เคยได้กล่าวถึงวิธีคำนวณโดยใช้วิธีคิดที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น แรงงานนอกระบบของไทยก็ถูกนับเข้าไปคิดด้วย เช่น คนขับแท็กซี่ คนขายของข้างทาง ฯลฯ ซึ่งแรงงานนอกระบบนี้คิดเป็นถึง 64% ของแรงงานทั้งหมดของไทยในปี 2013 หรือแม้แต่ถ้าหากตกงานแล้วกลับบ้านไปทำนาก็ถือว่านับว่ามีงานทำแล้ว รวมไปถึงการจ้างงานแบบพาร์ตไทม์ก็นับว่ามีงานทำ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข้อเสนอจาก ธิรดา ชัยเดชอัครกุล จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ ปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงประเด็นเชิงโครงสร้างที่ตัวเลขอัตราการว่างงานไม่สามารถสะท้อนได้ แม้อัตราการว่างงานไทยอยู่ในระดับต่ำแต่ไม่ได้หมายความว่าตลาดแรงงานจะไม่มีปัญหาใดๆ โดยไทยนั้นเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง 3 ประการ

  1. แรงงานบางส่วนอาจไม่มีทางเลือกและต้องทนทำงานที่ไม่มั่นคง
  2. ไม่พร้อมหางานไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการทำงาน
  3. มีงานทำไม่ได้สะท้อนว่าทำงานตรงความสามารถ

นอกจากนี้ทั้ง 2 ยังได้เสนอให้เพิ่มเครื่องชี้วัดด้านแรงงานอื่น ๆ เพิ่มเติมจากอัตราการว่างงาน และการปรับปรุงชุดคำถามของแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อพัฒนาข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน รวมทั้งการศึกษาเชิงลึกด้านโครงสร้างตลาดแรงงานอีกด้วย

ที่มา – ประชาชาติธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ