ขยายเพดานหนี้สาธารณะ: ระยะสั้นไม่กระทบเสถียรภาพ ระยะยาวต้องหารายได้เพิ่ม

หลังจากที่วานนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม จากเดิมไม่เกิน 60% เป็น 70% มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แง่บวกคือ รัฐบาลควรทำเนื่องจากไทยอยู่ในสภาวะวิกฤต สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยไม่สูงมากนักและยังอยู่ในสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ  แต่ต้องรู้จักใช้เงินให้คุ้มค่าอย่างแท้จริง ขณะที่แง่ลบก็กังวลว่า รัฐบาลจะดันเพดานออกไปเรื่อยๆ หนี้ที่มีอยู่ก็มากพอแล้ว กลัวจะใช้หนี้ไม่ไหว ฯลฯ

เรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสำหรับในระยะสั้นแล้ว การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% เช่นนี้ยังไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลัง แต่ในระยะยาว ต้องหารายได้เพิ่ม เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้นเกือบ 20% ของ GDP ณ ช่วงสิ้นปี 2564 ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 41.7% ต่อ GDP

หลังวิกฤตโควิด-19 ภาครัฐมีการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านมาตรการทางการคลัง ผ่านแหล่งเงินงบประมาณประจำปี 2563-2564 และ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทและการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงกู้เงินขาดดุลงบประมาณที่มีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูง เม็ดเงินกู้ต่างๆ เหล่านี้ประกอบกับฐาน GDP ไทยที่หดตัวลึก คาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยแตะระดับ 60% ต่อ GDP ในปี 2564 นี้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกก็มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แทบทุกประเทศอัดฉีดมาตรการการคลังในการเยียวยาประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังจะเห็นยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต

ญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มมากที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจหลัก อัดฉีดมาตรการการคลังในการเยียวยาประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามด้วยสหรัฐ สหราชอาณาจักร จากการประเมินของ IMF ณ เดือนเมษายน 2564 หนี้สาธารณะในประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.8% ต่อ GDP ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 120.1% ต่อ GDP ในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 122.5% ต่อ GDP ในปี 2564 ทำให้การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น

มาเลเซียก็ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเช่นเดียวกัน มีแผนที่จะขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็น 65% ต่อ GDP หลังจากก่อนหน้านี้ปรับเพิ่มจาก 55% ต่อ GDP เป็น 60% ต่อ GDP ในเดือนสิงหาคม 2563 มาเลเซียมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดมากที่สุดในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ส่วนสหรัฐฯ อาจพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเนื่องจากมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว เดือนกรกฎาคม2564 สัดส่วนหนี้ในประเทศอยู่ที่ 98.2% ของหนี้สาธารณะรวม ทำให้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศในหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและอัตราแลกเปลี่ยนจึงอาจมีผลกระทบไม่มากนัก โครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยราว 94% เป็นหนี้ระยะยาว ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดไม่ทันมีจำกัด อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำมาก จะช่วยเอื้อให้ต้นทุนของภาระหนี้ในกรอบเวลาระยะสั้นนั้นอยู่ในระดับต่ำ

การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาวจำเป็นต้องมีแผนการจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า ขณะที่การใช้งบประมาณต้องก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ระยะสั้น หากระดับหนี้สาธารณะสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังจนต้องมีการขยับเพดานเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้เงินภาครัฐมาดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการกู้เงินมาใช้โดยไม่มีความจำเป็น แต่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สาธารณชน โดยเฉพาะผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารหนี้สาธารณะให้กลับมายั่งยืน หมายถึงขนาดการขาดดุลการคลังต้องทยอยลดลงจนเข้าสู่สมดุลในที่สุด

จุดสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดหารายได้เพิ่มเติมของภาครัฐ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีที่อาจจะต้องหาฐานภาษีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มรายได้จัดเก็บเพื่อให้เพียงพอต่อการลดขนาดการขาดดุลการคลัง อาทิ ภาษีจากฐานสินทรัพย์ เป็นต้น ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจะเสี่ยงมากหรือน้อยยังอยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ ที่จะขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ บทสรุปสุดท้ายจึงอยู่กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา