เปิดแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 65: ก่อหนี้ใหม่ 1.3 ล้านล้านบาท

แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุว่า วันนี้ (28 กันยายน 2564) คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว โดยแผนฯ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยในการกำหนดกรอบในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพคล่องของตลาดการเงินภายในประเทศเพื่อรองรับการกู้เงินตามแผนฯ ในปีงบประมาณ 2565 ตลอดจนการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy: MTDS) สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกู้เงินที่เพิ่มสูงขึ้นของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และสภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง เพื่อกำกับการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม

การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการบริหาร หนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561

แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,344,783.84 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,505,369.64 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 339,291.87 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,344,783.84 ล้านบาท

1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 1,203,425.21 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง วงเงินรวม 736,246.79 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 700,000.00 ล้านบาท
  • เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ตามมาตรา 22 และ 23 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ) เป็นโครงการที่มีความสัมพันธ์กันและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของประเทศให้ครอบคลุมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ วงเงินรวม 36,246.79 ล้านบาท

(2) รัฐบาลกู้มาเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 500,000.00 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้บรรจุวงเงินดังกล่าวในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 150,000.00 ล้านบาท และมีผลการกู้เงิน จำนวน 144,166.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 5,833.66 ล้านบาท จึงนำวงเงินคงเหลือมาบรรจุในปีงบประมาณ 2565 รวมเป็นวงเงิน 355,833.66 ล้านบาท

(3) รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ วงเงินรวม 66,344.76 ล้านบาท ประกอบด้วย

3.1) การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้ต่อ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) วงเงินรวม 10,870.00 ล้านบาท

3.2) การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อ (โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 สายทาง) วงเงินรวม 55,474.76 ล้านบาท

(4) รัฐบาลกู้มาเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง วงเงิน 45,000.00 ล้านบาท

1.2 แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ มีรัฐวิสาหกิจ 16 แห่ง วงเงินรวม 141,008.63 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) แผนเงินกู้เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา มีรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง วงเงินรวม 61,006.91 ล้านบาท  โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการจัดหารถจักรพร้อมอะไหล่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า โครงการขยายเขตไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น

(2) แผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป มีรัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง วงเงินรวม 80,001.72 ล้านบาท

1.3 แผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ  (สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.)) วงเงิน 350.00 ล้านบาท

2. แผนการบริหารหนี้เดิม 1.5 ล้านล้านบาท

เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมและบริหารความเสี่ยงหนี้เดิมของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์ในการบริหารหนี้และความเสี่ยง ภายใต้การทบทวนกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-term Debt Management Strategy: MTDS) วงเงินรวม 1,505,369.64 ล้านบาท ประกอบด้วย

2.1 แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล วงเงิน 1,370,586.10 ล้านบาท

2.2 แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 134,783.54 ล้านบาท

3. แผนการชำระหนี้ 3.3 แสนล้านบาท

เป็นแผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงินรวม 339,291.87 ล้านบาท ประกอบด้วย

3.1 แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 297,631.44 ล้านบาท

3.2 แผนการชำระหนี้หน่วยงานของรัฐจากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 41,660.43 ล้านบาท

ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว กระทรวงการคลังคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP  ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 62.69 ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่าการลงทุนในแผนงาน โครงการต่างๆ ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะจะช่วยเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย

ที่มา – กระทรวงการคลัง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา