“ดีที่สุด สุดยอด ที่หนึ่ง” ใช้คำนี้ในโฆษณาระวังเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค หลังราชกิจจาฯ ประกาศกฎหมายโฆษณาใหม่แล้ว

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาฉบับใหม่ เรื่อง “แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ. 2565” เนื่องจากปัจจุบันมีการเผยแพร่โฆษณาผ่านสื่อหลายรูปแบบเพื่อเชิญชวนให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการซึ่งบางครั้งผู้ประกอบการไม่สามารถพิสูจน์ข้อความในการโฆษณาได้ว่าเป็นความจริง


ใจความสำคัญของประกาศฉบับนี้ มีอยู่ว่าข้อความที่ใช้เป็นหลักในการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ต้องแสดงให้เห็น อ่าน ฟังได้อย่างครบถ้วน ชัดเจน และไม่ทำให้ผู้บริโภคหลงผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ทำโฆษณาไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบ หรือข้อความที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือการกระทำลักษณะเดียวกันที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ

ในบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาได้มีการยกตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคไว้ ดังนี้

  • ข้อความที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบ เช่น “บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า”
  • ข้อความที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคลที่ชักจูงให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น “ใช้แล้วเห็นผลทันที” “รับแก้เคราะห์ แก้กรรม” “เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์”
  • ข้อความรับประกันที่ไม่ชัดเจนและถูกต้องครบถ้วน เช่น “ปลอดภัย หายห่วง” “รับประกันความพึงพอใจ” “ไม่เห็นผล ยินดีคืนเงิน”
  • ข้อความเปรียบเทียบสินค้าของตนกับสินค้าอื่นในประเภทเดียวกัน ข้อความอ้างอิงผลการทดลองหรือข้อเท็จจริง รวมทั้งรางวัล เช่น “ดีที่สุด” “หนึ่งเดียวในไทย” “ยอดขายอันดับ 1” “ผ่านมาตรฐานจากสถาบันทดสอบ”

ประกาศจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

อ่านประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาฉบับเต็มได้ที่ ราชกิจจานุเบกษา

ที่มา – ราชกิจจานุเบกษา 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา