ปี 2023 เป็นปีทองของตลาดรถยนต์ EV ไทย เพราะยอดขายเติบโตมากกว่า 600% จากฐานอันน้อยนิดกลายมาเป็น EV กว่าแสนคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนไทย
แต่จำนวนกว่าแสนคัน คิดเป็นแค่ 12% ของรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลในไทยเท่านั้น แล้วเท่าไรจึงจะเป็นเป้าหมายของการปักหมุดผู้ใช้ EV ในประเทศไทย
Brand Inside สรุปประเด็นจากเวที ‘EGAT EV: The Journey to Business Solutions’ ที่ ‘ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ’ และ ‘คุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ’ เจ้าของเพจ ‘Kim Property Live’ มาเล่าให้ทุกคนอ่านกัน
จากข้อมูลโดย ‘Rho Motion’ ภายในปี 2030 ประเทศผู้นำหลายๆ แห่งตั้งเป้าที่จะปรับสัดส่วนผู้ใช้งานรถยนต์ EV ต่อผู้ใช้งานรถธรรมดาไว้ดังนี้
- สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41%
- จีน 60%
- สหภาพยุโรป 64%
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว คำถามคือ ‘ประเทศไทย’ อยู่ตรงไหนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า?
ฐานผลิตรถยนต์ดั้งเดิม-อากาศร้อน เพิ่มโอกาส EV ไทย
อย่างที่หลายๆ คนทราบดีว่าไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตยานยนต์ เพราะพวกเราติด 1 ใน 10 อันดับของประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดในโลก โดยเราผลิตรถยนต์ไปกว่า 1.88 ล้านคันในปี 2022 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ด้านการผลิตยานยนต์ในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลในงาน ‘EGAT EV: The Journey to Business Solutions’ 50% ของรถยนต์และ 58.9% ของมอเตอร์ไซค์ทั่วอาเซียนถูกผลิตในไทย
ที่สำคัญ ด้วยสภาพอากาศของไทยที่เป็นเมืองร้อน การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่เราทำได้ดี สูสีไม่แพ้ประเทศผู้นำอื่นๆ โดยทางรัฐบาลไทยก็ได้ปรับแผนให้กำลังการผลิตโซลาร์เซลล์เกิน 18,000 ล้านวัตต์ภายในปี 2036 เพิ่มจากปี 2023 ที่มีเพียง 3,186 ล้านวัตต์
ดังนั้น คุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ มองว่า “จากฐานผลิตที่แข็งแรงและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการปรับใช้พลังงานสะอาด ประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตมากในตลาดรถยนต์ EV และดูเป็นไปได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มองว่าจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 แห่งภายในปี 2035
การมาของตลาด EV จะให้อะไรกับเรา?
แน่นอนว่าเมื่อประเทศไทยได้ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า คนที่จะได้ผลประโยชน์ก็คงจะเป็นบรรดาผู้ผลิตและเจ้าของสถานีชาร์จตามจังหวัดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม หากเรามองให้กว้างกว่านี้ การมาของตลาดรถยนต์ EV อาจให้อะไรมากกว่าที่คิด
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนมากกว่า 3,000 ชิ้น ดังนั้น หากมีโรงงานผลิตมาตั้งในไทย อุตสาหกรรมส่วนนี้ก็จะเติบโตตามไปด้วย
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น หากร้านอาหารแห่งหนึ่งมีจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ EV ด้วย ก็มีแนวโน้มว่าเจ้าของรถอาจเข้ามาใช้บริการร้านอาหารระหว่างรอการชาร์จแบต
- ส่งเสริมธุรกิจซอฟต์แวร์ เพราะในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะเปรียบเสมือนมือถือที่วิ่งได้ อาจมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การไลฟ์สดโดยมีกล้องที่คมชัดไม่แพ้โทรศัพท์
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรีและระบบกักเก็บพลังงานอื่นๆ เนื่องจากของพวกนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ภายในครัวเรือนได้ด้วย
- ลดขยะและเสริมรายได้ เพราะแร่หลายๆ อย่างในแบตเตอรีรถยนต์ EV สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ นอกจากจะเป็นการลดขยะแล้ว ยังสามารถนำไปขายในราคาที่แพงกว่าขยะกล่องลังอีก
กฟผ. ออกฟีเจอร์ใหม่ เลือกชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์และลมได้ด้วย
‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ หรือ ‘กฟผ.’ ยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดว่าต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย เพื่อตอบสนองนโยบายประเทศในการกำจัดก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น นอกจากสถานีชาร์จรถยนต์ EV ที่กฟผ. หรือ ‘EGAT’ จัดหาให้แล้ว ทางหน่วยงานยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันออกมาสองตัวเป็นการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น
‘EleXa’ คือแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้งาน ‘EleX’ สถานีชาร์จของ EGAT ที่ได้ผ่านการพัฒนาจนมีฟีเจอร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ‘Roaming’ ที่รวมข้อมูลสถานีจากหลากหลายเครือข่ายในแผนที่เดียว หรือ ‘Trip Planner’ ที่แสดงสถานีตลอดเส้นทางของผู้ใช้งาน
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้กฟผ. กำลังพัฒนาฟีเจอร์ตัวใหม่ชื่อว่า ‘Green Charging’ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสถานีชาร์จไฟฟ้าของ EleX สามารถเลือกชาร์จรถยนต์ EV ด้วยพลังงานสะอาดจาก ‘แสงอาทิตย์’ และ ‘ลม’ ได้ โดยจะเปิดให้ใช้งานฟังก์ชันนี้ภายในปี 2025
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่ทางกฟผ. ได้พัฒนาคือ ‘BackEn EV’ ระบบบริหารจัดการที่อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ในตอนแรก แพลตฟอร์มนี้ตั้งใจเจาะจงไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเท่านั้น แต่เนื่องจากกฟผ. ต้องการขยายสถานีชาร์จเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจให้เข้ากับยุคเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น ทางองค์กรจึงเดินหน้าขยายฐานผู้ใช้งานสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่คือ ‘ลูกค้าองค์กร’ ซึ่งประกอบไปด้วย
- โลจิสติกส์ เช่น รถขนส่ง รถบรรทุก และ รถกระบะ
- ผู้ให้บริการรถเช่า รวมถึงรถแท็กซี่
- รถองค์กรหรือรถประจำตำแหน่ง
ท้ายสุด กฟผ. ยังคงมุ่งหน้าพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากต้องการให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เราจำเป็นต้องมีสถานีชาร์จรถ EV ที่สะดวกและพร้อมก่อน
แหล่งอ้างอิง: Statista
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา