กฟผ. เดินหน้าทำตลาดตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ชูลงทุนเริ่ม 2.09 แสนบาท หวังขายได้ 30 ชุด ในปีแรก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ส่งแผนทำตลาด EGAT EV บริการออกแบบ และติดตั้งสถานีชาร์จ ชูแพ็กเกจเริ่มต้น 2.09 แสนบาท ได้ตู้ชาร์จ AC 2 เครื่อง คืนทุนภายใน 2-3 ปี หากถูกใช้บริการ 8 ชม./วัน หวังปีแรกจำหน่ายได้ 30 ชุด ตอบโจทย์ลูกค้าร้านอาหาร, ศูนย์การค้า ถึงสถานีบริการน้ำมัน

กฟผ.

กฟผ. เดินหน้าทำตลาดตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

รังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน กฟผ. ทำตลาดเกี่ยวกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากว่า 3 ปี ผ่านการมี Elex สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, ELEXA แอปพลิเคชันสำหรับใช้งานสถานีชาร์จ และระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จ

ทั้งหมดนี้เป็นการทำตลาดกับผู้บริโภคทั่วไป และเพื่อเป็น Backbone หรือโครงสร้างพื้นฐานของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่หลังจากนี้ กฟผ. ต้องการบุกตลาดลูกค้าองค์กรทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มากขึ้น ผ่านการพัฒนา EGAT EV Solutions บริการออกแบบ และติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

สำหรับ EGAT EV Solutions จะมีทั้งหมด 3 แพ็กเกจ ประกอบด้วย

  • S ได้เครื่องชาร์จ AC 22 kW 2 เครื่อง ราคาเริ่มต้น 2.09 แสนบาท
  • M ได้เครื่องชาร์จ DC 30-60 kW 1 เครื่อง ราคาเริ่มต้น 4.49 แสนบาท
  • L ได้เครื่องชาร์จ DC 100-150 kW 1 เครื่อง ราคา 1.23 ล้านบาท

“สำหรับแพ็กเกจ S กฟผ. มองว่า จะใช้เวลา 2-3 ปี ก็คืนทุน แต่ตัวตู้ต้องมีการใช้งานอย่างน้อย 8 ชม./วัน ซึ่งรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมนำไปใช้งานคือ โรงแรม, ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ที่มีลูกค้าแต่ละรายเข้ามาใช้งาน 2-3 ชม./คน/วัน โดย กฟผ. จะมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการลงทุน ผ่านการช่วยสำรวจพื้นที่ และวางระบบอย่างถูกต้อง”

กฟผ.

ตั้งเป้าปีแรกมียอดขายรวมกว่า 30 ชุด

ปัจจุบัน กฟผ. มีการบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 150 แห่ง ทำให้องค์กรจะอาศัยประสบการณ์นี้มาจูงใจลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุน โดยตั้งเป้าในปีแรกของการทำตลาดจะจำหน่ายได้ทั้งหมด 30 ชุด แบ่งเป็นแพ็กเกจ S 10 ชุด, M 10 ชุด และ L 10 ชุด

ในทางกลับกัน ตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ กฟผ. นำมาจำหน่ายภายใต้แพ็กเกจดังกล่าว ตัวตู้ชาร์จ และซอฟต์แวร์ในการใช้งานต่างถูกพัฒนาโดยคนไทย เพื่อให้ปรับใช้ตามความต้องการของคนไทยได้อย่างสะดวก และ กฟผ. สามารถควบคุมคุณภาพในแง่มุมต่าง ๆ ได้

ขอเป็น Backbone เหมือนเดิม

รังสินี ย้ำว่า การที่ กฟผ. เข้ามาทำตลาดกับองค์กรต่าง ๆ ในเวลานี้ถือเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอีกทาง และหลังจากตลาดมีความพร้อมมากขึ้น กฟผ. จะไม่เข้ามาแข่งขันกับบริษัทเอกชนต่าง ๆ และกลับไปเป็น Backbone ของรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น

อ้างอิง // EGAT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา