EIC: เศรษฐกิจไทยหดตัวสูงใกล้เคียงวิกฤตต้มยำกุ้ง เสี่ยงว่างงานและปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น

SCB Economic Intelligence Center (EIC) คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงกดดัน เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2020 หดตัว -12.2% YOY เป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี ใกล้เคียงช่วงไตรมาส 2 ของปี 1998 ที่ประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง -12.5% YOY

Bangkok Thailand COVID-19 Empty Road
ภาพจาก Shutterstock

เศรษฐกิจไทยหดตัวมากที่สุดในรอบ 22 ปี สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยครึ่งแรกของปี 2020 เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -6.9% YOY ขณะที่การหดตัวแบบเทียบไตรมาสต่อไตรมาสแบบปรับฤดูกาลพบว่าหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส ไตรมาสที่ 2/2020 เศรษฐกิจไทยหดตัวมากถึง -9.7%QoQ sa

เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย หดตัวเกือบทุกด้าน ยกเว้นรายจ่ายจากภาครัฐที่ขยายตัวจากการเร่งเบิกจ่ายหลังงบประมาณผ่านการอนุมัติ มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัว -28.3% YOY ต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน 

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงพลิกกลับมาหดตัว -15.9% YOY  หลังจากขยายตัว 2.0% YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งผลกระทบจากการปิดเมืืองที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหยุดชะงัก รวมถึงปัญหา supply chain disruption ทำให้การส่งออกสินค้าหลายภาคส่วนหดตัวสูง โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์

การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวหดตัวสูง -70.4%YOY หลังจากหดตัว -32.2% YOY ในไตรมาสก่อนหน้า จากการที่หลายประเทศรวมทั้งไทยมีมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่ 2 หายไปทั้งหมด แต่ยังได้รับอานิสงส์จากรายรับบริการอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้บ้าง

กรุงเทพ Bangkok Thailand
ภาพจาก Shutterstock

มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวสูงถึง -23.3% YOY ตามการส่งออกที่ลดลง อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวจากการนำเข้าสินค้าหดาตัว -19.3%YOY ขณะที่การนำเข้าบริการหดตัวสูง -37.9%YOY จากการที่คนไทยไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้

การใช้จ่ายเพื่อบริโภคภาคเอกชนหดตัว -6.6%YOY หลังจากขยายตัว 2.7%YOY ในไตรมาสก่อนหน้าโดยการหดตัวมาจากการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อสินค้าคงทน กึ่งคงทน และภาคบริการ ขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะหมวดสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -15.0%YOY ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน เป็นการหดตัวทั้งในส่วนของการลงทุนก่อสร้าง (-2.1%YOY) และลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร (-18.4%YOY) โดยเฉพาะหมวดรถยนต์

การบริโภคและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในไตรมาสนี้จากการเร่งเบิกจ่ายหลังจากงบประมาณได้รับการอนุมัติ การใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัว 1.4%YOY ในขณะที่การลงทุนรัฐบาลขยายตัวสูงถึง 12.5%YOY โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า

ด้านการผลิตมีการหดตัวในทุกสาขาการผลิต ยกเว้นการก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากกการลงทุนของภาครัฐ ภาคเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 อัตราชะลอลงที่ -3.2%YOY ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่อง -14.4%YOY สาขาการขายส่งและขายปลีกพลิกกลับมาหดตัวที่ -9.8%YOY ผลจาภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อการขายส่งและขายปลีกโดยตรง

สาขาที่พักแรมและอาหารหดตัวในอัตราเร่งขึ้น -50.2%YOY การแพร่ระบาดของโควิดทำให้มีการปิดเมือง นักท่องเที่ยวต่างชาติหายหมด รวมทั้งการปิดเมือง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบ สมาคมขนส่งและจัดเก็บสินค้าหดตัวสูงที่ -38.9%YOY  และการผลิตในบางสาขามีการขยายตัว เช่น ก่อสร้าง ซึ่งขยายตัวสูง 7.4%YOY หลังจากหดตัว -9.9% ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลปี 2020

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวสูงใกล้เคียงกับที่คาดไว้ จากผลกระทบของมาตรการปิดเมืองเป็นสำคัญ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก รวมถึงการลงทุนด้วยที่หลายบริษัทตัดสินใจชะลอหรือยกเลิกการลงทุนตามยอดขายที่หายไปมาก ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 ยังมีปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวมากไปกว่านี้ ดังนี้

  • การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ เม็ดเงินเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ มาตรการให้เงินช่วยเหลือ มาตรการ soft loan และการพักชำระหนี้
  • รายจ่ายด้านสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานเป็นแบบ work from home
  • การนำเข้าที่หดตัวในระดับสูง หดตัวกว่า -23.3%YOY

ช่วงที่เหลือของปี EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังฟื้นตัว การหดตัวของเครื่องชี้ต่างๆ จะติดลบมากสุดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปิดเมืองข้มข้น ช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญอุปสรรคและความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

  • ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเมื่อใด
  • ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก จะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย
  • ความเสี่ยงด้านการปิดกิจการและการว่างงาน เป็นไปได้ว่าหลายธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ขาดรายได้จนกระทั่งไม่สามารถจ่ายต้นทุนคงที่ได้ จึงทำให้ต้องปิดกิจการ และปลดคนออก การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก 
  • ความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรกรสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาครัฐกำลังหมดไปในช่วงเดือนกรกฎาคม หากไม่ได้รับการต่ออายุหรือต่อยุในขนาดที่เล็กลง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังอาจออกมาตรการรอบใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชน

ที่มา – EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา