เมื่อแบงก์กรุงเทพต้องลุยต่างประเทศ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย | BI Opinion

เมื่อธนาคารที่ทุกคนมองว่ามีมุมมองที่อนุรักษ์นิยมมากที่สุด กลับกลายเป็นธนาคารที่รุกมากที่สุดหลังจากการซื้อกิจการในอินโดนีเซีย และอาจทำให้ผู้เล่นรายอื่นๆ ต้องกล้ามากขึ้นในเกมนี้

Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ
จากภาพลักษณ์ที่มองว่าเชื่องช้า แต่หลังจากนี้อาจทำให้คู่แข่งต้องมองธนาคารรายนี้ใหม่ – ภาพจาก Shutterstock

ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาหลังจากที่ Bloomberg ได้ลงเสนอข่าวว่าธนาคารกรุงเทพได้ซื้อกิจการของ PT Bank Permata ธนาคารใหญ่อันดับ 12 ของประเทศอินโดนีเซีย และไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ชาติศิริ โสภณพนิช นายใหญ่ของแบงก์กรุงเทพได้ปิดดีลนี้กับ Standard Chartered และ PT Astra International และได้ครอบครองธนาคารจากประเทศอินโดนีเซียได้สมใจ

อย่างที่เราทราบกันว่า Potential ของประเทศอินโดนีเซียในอนาคตนั้นมีมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง GDP ที่เติบโตได้สูง เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังได้ลุ้นในเรื่องพลังของผู้บริโภค เรื่องของการเข้าถึงด้านการเงินยังต่ำ ซึ่งเราจะเห็นแม้แต่สตาร์ทอัพอย่าง Grab และ Go-Jek ยังต้องลุยธุรกิจการเงินในอินโดนีเซีย

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ การออกมาต่างประเทศครั้งนี้ถือว่าเป็นความกล้าครั้งสำคัญ เหมือนการออกสู่น่านน้ำใหม่ๆ โดยสิ่งที่แบงก์ใหญ่จากสีลมรายนี้สามารถทำได้ทันทีคือการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรายใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังมีโอกาสใหม่ๆ อีกมากจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับชาวอินโดนีเซีย

โอกาสที่เปิดกว้างของธนาคารกรุงเทพหลังจากได้เป็นเจ้าของ Permata คือด้วยเม็ดเงินกองทุนที่มีอยู่มาก ผู้เขียนคิดว่าก็ยังพอมีช่องว่างที่จะสามารถทำ Merger & Acquisition ธนาคารอื่นๆ ในอินโดนีเซียภายในระยะเวลา 5-10 ปีนี้ได้อีกด้วยซ้ำ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารในอินโดนีเซียถือว่ามีหลายราย และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการควบรวมกิจการกันอีกมาก

ลองนึกภาพกรณีของ Mitsubishi UFJ Financial Group ได้ซื้อหุ้นสัดส่วนใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขณะที่ญี่ปุ่นมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าในไทย และธนาคารกรุงเทพก็ใช้วิธีเดียวกันกับในอินโดนีเซีย หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับทีมผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพว่าจะทำให้ธนาคารอันดับ 12 รายนี้สามารถก้าวขึ้นมาขึ้นเป็นผู้เล่นอันดับต้นๆ และตัวเลขทางการเงินดีขึ้นได้หรือไม่ ขณะที่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร และเรื่องของหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น

ผู้เขียนคิดว่าดีลของธนาคารกรุงเทพนี้สามารถที่จะตอบเรื่องของเศรษฐกิจภายในไทยอย่างเป็นทางการ อย่างที่ประชาชนหลายๆ คนได้ตั้งข้อสงสัย ขณะเดียวกันไทยก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบช้าๆ ซึ่งก็เป็นแรงกดดันของอุตสาหกรรมธนาคารที่จะต้องหารายได้ทางใหม่ๆ ด้วย

นอกจากนี้ผู้เขียนที่อยู่ภายในการแถลงข่าว ก็มีนักข่าวจากสื่อธุรกิจได้ถามว่าทำไมธนาคารกรุงเทพถึงไม่ซื้อกิจการในไทย เหมือนกรณีการควบรวมกิจการของ TMB กับ ธนชาติ ซึ่งผู้บริหารก็ได้ตอบถึงเรื่องของขนาดธนาคารที่ใหญ่สามารถให้บริการได้เช่นกัน ซึ่งเหมือนเป็นคำตอบกลายๆ ไปแล้ว

จากภาพลักษณ์ของธนาคารที่ทุกคนมองว่าเป็นธนาคารที่เชื่องช้า แต่หลังจากที่เป็นธนาคารแรกที่ซื้อกิจการในต่างประเทศอย่างเป็นทางการ อาจทำให้อุตสาหกรรมธนาคาร รวมไปถึงธุรกิจที่เกียวข้องในด้านสินเชื่ออาจกล้าที่จะลุยกับการทำ Merger & Acquisition ในประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น

ไม่แน่ว่าหลังจากนี้เราอาจเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ไล่ซื้อกิจการละแวกเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่อินโดนีเซียอีกรอบด้วยซ้ำ เพราะว่าธนาคารที่คนมองว่าอนุรักษ์นิยมมากที่สุดได้เป็นคนเปิดเกมนี้คนแรกไปแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ