เปิดสาเหตุสำคัญ 3 ข้อ ทำไมไทยเบฟถอนโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2566 โดยสาระสำคัญ ดังนี้ รับทราบข้อเสนอของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เรื่องแจ้งความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทและเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 จากไทยเบฟซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท (ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ไทยเบฟถือหุ้นในบริษัท จำนวนทั้งสิ้น 298,720,398 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 79.66% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท)

ThaiBev

โดยไทยเบฟประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่เหลือทั้งหมดจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.34% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 59.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่คำนวณได้ตามวิธีการกำหนดราคาเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 12/2554

เหตุผลที่ไทยเบฟถอนโออิชิออกจากตลาดหุ้น มีดังนี้

1) ไทยเบฟเล็งเห็นว่า ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีไม่มากนัก ไทยเบฟจึงเห็นว่าการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทสามารถขายหุ้นของบริษัทได้

2) กลุ่มไทยเบฟอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานและการประกอบธุรกิจของกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ภายในกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และ/หรือเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ

โดยจะดำเนินการจัดกลุ่มธุรกิจอาหารและกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างของกิจกรรมในเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจดำเนินการให้ลักษณะของการซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ การควบรวมกิจการ การโอนสิทธิตามสัญญาทางการเงิน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงาน ซึ่งการปรับโครงสร้างที่กล่าวมมานี้อาจมีการทำรายการหรือธุรกรรมระหว่างบริษัทกับไทยเบฟหรือบริษัทในกลุ่มไทยเบฟได้

การดำเนินตามแผนดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น การเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจะทำให้เพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น

3) เนื่องจากบริษัทจะไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกต่อไป การดำเนินการดังกล่าวจะยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียน

ทั้งนี้ ภายหลังการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจะยังมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

ที่มา – SET

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา