Passion 2025 จะพา ไทยเบฟ ให้เติบโตมากขนาดไหน?

Passion หรือความมุ่งมั่น ลุ่มหลง คือสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ เพราะยิ่งมุ่งมั่น ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้มากกว่า บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ หรือ ไทยเบฟ จึงนำคำนี้มาตั้งเป็นแผนหลักเพื่อเติบโตในอนาคตในชื่อ Passion 2025

ไทยเบฟ

Passion 2025 ดัน ไทยเบฟ เบอร์ 1 อาเซียน

Passion 2025 คือแผนธุรกิจหลักของ ไทยเบฟ เพื่อนำองค์กรให้เติบโตทั้งในแง่รายได้ และความยั่งยืนของธุรกิจ โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟ ได้เปิดเผยความคืบหน้าของแผนดังกล่าวว่า การเตรียมความพร้อม และปรับกลยุทธ์ธุรกิจในด้านต่าง ๆ ทำให้บริษัทยังเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจเครื่องดื่มในไทย และอาเซียน

“โรค COVID-19 จะสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกมาเกือบ 2 ปี แต่การปรับแผนดำเนินธุรกิจ, การทำตลาด รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้ 9 เดือนแรก ปี 2021 บริษัทมีรายได้รวม 1.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี ปิดที่ 36,638 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5%”

สำหรับแผน Passion 2025 ของ ไทยเบฟ ประกอบด้วย 3 แกนคือ

  • Build หรือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับ และเพิ่มตลาดที่น่าสนใจ
  • Strengthen หรือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในระดับอาเซียน
  • Unlock หรือการนำศักยภาพของบริษัทมาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด ทั้งมุมทรัพยากรภายใน และเครือข่ายพันธมิตร

“ทุกธุรกิจต้องมีการตื่นตัว และมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อวางแผนรับมือกับวิถีใหม่ในยุค New Normal ซึ่ง ไทยเบฟ ปรับตัว และยังคงเป็นบริษัทเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นบริษัทในอาเซียนบริษัทเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเอเชียในด้านรายได้และมูลค่าทางการตลาด”

เจาะแต่ละธุรกิจ เริ่มต้นที่กลุ่มธุรกิจสุรา

หากเจาะไปที่แต่ละธุรกิจ เริ่มต้นที่ธุรกิจสุรา พบว่า ธุรกิจนี้ทำรายได้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 ที่ 91,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% กินสัดส่วน 47% ของรายได้รวม ผ่านการครองอันดับ 1 ในหลายสินค้า เช่น รวงข้าว เป็นสุราขายอันดับ 1 ในไทย, หงส์ทอง เป็นสุราสียอดขายอันดับ 1 ในไทย และ คูลอฟ เป็นวอดก้าอันดับ 1 เช่นกัน

“แม้ร้านอาหาร, สถานบริการ และกิจกรรมอื่น ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผู้บริโภคในไทย และอาเซียน ยังบริโภคสุราของบริษัทต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อไปบริโภคที่บ้าน แต่ปี 2021 ยังเป็นปีที่ท้าทายของการทำตลาดสุราเช่นเดิม” ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา ไทยเบฟ กล่าว

ทั้งนี้ เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ สามารถเพิ่มการเติบโตได้ถึง 26% ส่วนเมอริเดียนบรั่นดี ยังสามารถเพิ่มการเติบโตได้ถึง 39% และ แกรนด์รอยัลกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมา ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งประกอบกับมีเสถียรภาพของกระแสเงินสด

ธุรกิจเบียร์แข็งแกร่ง แต่สิ้นปีต้องดูสถานการณ์

ต่อด้วยธุรกิจเบียร์ เลสเตอร์ ตัน ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า 2021 คือปีที่เจอข้อจำกัด และความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งถึงที่บ้านเพื่อตอบโจทย์การบริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงแนวทางการทำตลาดที่หลากหลายยิ่งขึ้น ส่วนช่วงสิ้นปีจะมีลานเบียร์หรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โรค COVID-19 ในไทย

สำหรับธุรกิจเบียร์ 9 เดือนแรกปี 2021 คิดเป็นรายได้ 80,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 41% ของรายได้รวม มีสินค้าหลักคือ เบียร์ช้าง ซึ่งหลังจากนี้ ไทยเบฟ มีแผนขยายช่องทางการจัดจำหน่าย การยกระดับพอร์ตสินค้า และการดำเนินงาน เพื่อเปิดโอกาสในการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น

“แม้เบียร์จะเป็นสินค้าที่ไม่ได้เปิดสินค้าใหม่บ่อยนัก เต็มที่ปีละ 1-2 ตัว ดังนั้นการทำนวัตกรรมสินค้าต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของสินค้าจริง ๆ เช่นการทำ ช้าง เอสเปรสโซ่ ออกมาจำหน่าย สามารถกระตุ้นภารวมตลาด และสร้างความสนใจให้ผู้บริโภคได้จริง”

ธุรกิจ นอน-แอล หดตัว เตรียมเร่งเครื่องช่วงท้าย

อีกธุรกิจที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ นอน-แอล โดย โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจดังกล่าวในไทย เสริมว่า โรค COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจ โดยเฉพาะการปิดร้านอาหาร เพราะทำให้หนึ่งในช่องทางจำหน่ายหลักหายไปทันที

สำหรับยอดขายช่วง 9 เดือนแรกปี 2021 ธุรกิจนอน-แอล มีรายได้จากการขาย 11,688 ล้านบาท ลดลง 6.4% คิดเป็นราว 6% ของรายได้รวม โดย ไทยเบฟ มีการปรับตัวด้วยการรุกตลาดค้าปลีก และร้านค้าชุมชนมากขึ้น เพื่อนำสินค้าต่าง ๆ ไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากที่สุด

ส่วนมุมนวัตกรรม ไทยเบฟ มีการทำตลาดสินค้าที่เน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น เพื่อรับกระแสรักสุขภาพที่กำลังตอบโจ นอกจากนี้ยังเปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น และเตรียมความพร้อมกับคู่ค้าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสเมื่อร้านอาหาร และโรงเรียนจะกลับมาเปิดอีกครั้ง

ธุรกิจอาหารที่ไม่ง่ายในเวลานี้

ปิดท้ายที่ธุรกิจอาหารที่สถานการณ์แบบนี้ถึงจะปรับตัวแค่ไหน โอกาสการกลับมาเติบโตยังค่อนข้างยาก โดย นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหารประเทศไทย ยอมรับว่า แม้จะรุกช่องทางเดลิเวอรี, ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ขายตรงสู่ลูกค้า และควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยการปิดสาขา แต่ยอดขายยังลดลง

9 เดือนแรก ปี 2021 ธุรกิจอาหารสร้างรายได้ 8,649 ล้านบาท ลดลง 12.9% คิดเป็นราว 4.5% ของรายได้รวม มีหน้าร้านให้บริการทั้งหมด 673 สาขา บางสาขาเริ่มปรับเป็นรูปแบบเดลิเวอรี, ไดรฟ์ทรู หรืออื่น ๆ เพื่อให้ความสะดวก รวมถึงมี Food Truck และช่องทาง Shopteenee.com ที่รวมร้านอาหารต่าง ๆ ในเครือ สั่งได้ในที่เดียว

อย่างไรก็ตามในปี 2022 ทางธุรกิจอาหารจะปรับให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ผ่านการขยายสาขาให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับนำบริการดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาใช้งานมากขึ้น ทั้งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลัก Passion 2025 ของบริษัท

สรุป

Passion 2025 อาจถูกการระบาดของโรค COVID-19 ขัดขวางการเติบโตไปไม่น้อย แต่การวางรากฐานอย่างดี และพร้อมปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ บมจ. ไทย เบฟเวอเรจ ยังมีโอกาสเติบโตหลักจากนี้ ยิ่งการผสานระหว่างเครื่องดื่ม และอาหาร การจะกลับมาแข็งแกร่งหลังหลายประเทศในอาเซียนเปิดเมืองจึงมีมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา