ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจเห็นพาดหัวข่าว หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกว่า 90% ของ GDP แต่ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนปรับสูงขึ้น โดยระบุว่าเกิดจากปรับเพิ่ม ‘ชุดข้อมูลใหม่’ ในการคำนวณหนี้ครัวเรือนไทยซึ่งจะช่วยให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ดียิ่งขึ้น
หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่ม 7 แสนล้านบาทมาจากไหน?
จากข้อมูลธปท.ก่อนหน้านี้ระบุว่า ไตรมาส 1 ปี 2566 นี้หนี้ครัวเรือนอยู่ ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ที่ผ่านมา มียอดหนี้เพิ่มขึ้น 766,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น โดยเป็นกลุ่มหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ ทั้งนี้จะครอบคลุมผู้ให้กู้ 4 กลุ่ม ได้แก่
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 483,000 ล้านบาท
- สหกรณ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์) 265,000 ล้านบาท
- การเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท
- พิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท
(หากเปรียบเทียบ หนี้ครัวเรือนชุดข้อมูลใหม่จะมียอดคงค้าง 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP จะถือว่าสูงกว่า หนี้ครัวเรือนชุดข้อมูลเดิม 4.3% ต่อ GDP)
สถานการณ์หนี้เสียที่ธปท.ต้องจับตามองมีอะไรบ้าง?
ล่าสุด ต้นสัปดาห์นี้ (3 ก.ค.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า แม้หนี้ครัวเรือนภายใต้ชุดข้อมูลใหม่ในไตรมาส 4 ปี 2565 จะอยู่ที่ 91.4% แต่มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงแล้วหลังจากที่เร่งตัวสูงในช่วง COVID-19 รวมถึงจำนวนบัญชีและยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL หรือหนี้เสีย) จากผลกระทบของ COVID-19 ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนต.ค. 2565 แล้ว ซึ่งมาจากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังมองว่า ระยะต่อไป NPL หรือหนี้เสียอาจทยอยปรับขึ้นบ้างจาก กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยเข้ารับมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 แต่บางส่วนอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ยังพบว่า พฤติกรรมของลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ช่วงที่ผ่านมา อาจเห็นการอาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น จึงทำให้โดยทั่วไปสินเชื่อรถยนต์ ที่มีการจัดชั้น stage 2 (ค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อย ประเภทอื่น
จากทั้งหมดนี้ทำให้ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิดและผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว กับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยเร่งกำชับเจ้าหนี้-ลูกหนี้ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงธปท.จะเร่งออกแนวทางเพื่อให้ครอบคลุมวงจรหนี้ตั้งแต่การก่อหนี้ที่มีคุณภาพ ดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
ธปท. เร่งออก 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ช่วงปลายเดือนก.ค.นี้ ธปท. จะเร่งออกแนวแทางและชี้แจงรายละเอียดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่
อย่างแรกจะบังคับใช้ 1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ รวมถึงมีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้
ต่อมาจะใช้ 2) กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการ ปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่ม โอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสาหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง และ
ขณะที่ 3) มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอ ดำรงชีพ ไม่นำสู่การก่อหนี้เกินตัว ซึ่งการบังคับใช้ในส่วนนี้ต้องพิจารณาให้ เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจอีกด้วย
ที่มา – ธปท.
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา