ประเทศไทยมีความหลากหลายทางเพศระดับต้นๆ ในตำแหน่งระดับสูง
ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ในด้านความหลากหลายทางเพศในตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโส จากการรายงาน CS Gender 3000 ประจำปี 2021 โดย Credit Suisse Research Institute (CSRI)
โดยสิ่งที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้คือ ประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) มากที่สุดอันดับ 2 ของโลก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของ CFO จากบริษัท 60 แห่งในไทยเป็นผู้หญิง
ที่สำคัญ ประเทศไทยยังมีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก อยู่ที่ประมาณ 16.1%
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารมากเป็นอันดับ 4 ของโลก อยู่ที่ 29%
ความหลากหลายทางเพศของตำแหน่งระดับสูงในระดับโลก
ยุโรปและอเมริกาเหนือมีอัตราส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารมากที่สุด แต่ความแตกต่างระหว่างอัตราส่วนในสองภูมิภาคนี้กับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกนั้นน้อยมากคือ 1% เท่านั้น
ที่สำคัญ 5 ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารในอัตราส่วนสูงสุด ได้แก่ ประเทศจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) โดยมีเวียดนาม (34%) ฟิลิปปินส์ (31%) และไทย (29%) ครองสามอันดับแรก ในขณะที่ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ อยู่ในอันดับถัดมาที่ 27%
แต่ในทางกลับกัน อินเดีย (ร้อยละ 10) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 8) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 7) ครองสามอันดับสุดท้าย
- วิกฤตความเสมอภาคทางเพศในญี่ปุ่น ยิ่งนานวันยิ่งไม่เท่าเทียม
- เจาะประเด็นหลังประธานโอลิมปิกญี่ปุ่นเหยียดเพศ
เอเชียโดดเด่น มี CEO และ CFO หญิงเยอะติดระดับโลก
แต่ที่น่ากังวลคือ จำนวนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นเพียง 5.5% ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารทั้งหมด แม้จะเพิ่มขึ้นมากว่า 27% ก็ตาม
โดยสามประเทศในเอเชียติด 5 อันดับสูงสุดของประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงของโลก
- อันดับ 1 นอร์เวย์ (25%)
- อันดับ 2 สวีเดน (19%)
- อันดับ 3 เวียดนาม (16.7%)
- อันดับ 4 สิงคโปร์ (16.3%)
- อันดับ 5 ไทย (16.1%)
จำนวนประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ที่เป็นผู้หญิงคิดเป็น 16% ของตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินทั่วโลก เพิ่มขึ้น 17%
โดย สัดส่วน CFO หญิงในเอเชียแปซิฟิกสูงกว่าอเมริกาเหนือและยุโรป และที่สำคัญสามประเทศในเอเชียติด 3 อันดับสูงสุดของประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงของโลก
- อันดับ 1 เวียดนาม (58%)
- อันดับ 2 ไทย (49%)
- อันดับ 3 สิงคโปร์ (40%)
พลังแห่งความหลากหลาย “Diversity premium”
แม้จะไม่ได้ระบุเหตุผลรองรับที่แน่ชัด แต่รายงาน Gender 3000 ฉบับก่อน ๆ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทที่มีความหลากหลายทางเพศกับผลสัมฤทธิ์องค์กรและผลประกอบการหุ้นที่โดดเด่นกว่า หรือที่เรียกว่า พลังแห่งความหลากหลาย “Diversity Premium”
การศึกษาพบว่าข้อสรุปนี้ยังคงเป็นจริงอยู่ ด้วยคะแนนอัลฟ่า 200 bp ที่ประเมินผลมาจากกลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลายทางเพศสูงกว่าค่าเฉลี่ย เทียบกับบริษัทที่มีความหลากหลายทางเพศต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งในความเหนือกว่านั้นยังรวมไปถึงคะแนนด้านเป้าหมายสู่ความยั่งยืน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ด้วยเช่นกัน
รายงานฉบับล่าสุดยังชูประเด็นข้อค้นพบสำคัญอีกว่า บริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่นที่สุดต่างก็มีความหลากหลายทางเพศที่โดดเด่น ทั้งในระดับคณะกรรมการบริหารและตำแหน่งผู้บริหารอาวุโส (C-suite)
ที่มา – Credit Suisse
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา