ญี่ปุ่น เศรษฐกิจก้าวหน้า เรื่องเพศล้าหลัง เจาะประเด็นเบื้องลึก เมื่อประธานโอลิมปิกเหยียดเพศ

Olympic tokyo 2020
image from olympic.org

ตรงข้ามกับเศรษฐกิจที่รุดหน้าของญี่ปุ่น ประเด็นสังคมเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นถูกวิพากษ์ว่าล้าหลัง

ล่าสุด ญี่ปุ่นได้พิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ข้อความข้างต้นยังคงเป็นความจริง เมื่อ Yoshiro Mori ซีอีโอของงาน Olympic 2020 กล่าวในที่ประชุมออนไลน์ว่า “การประชุมกับผู้หญิงมักจะกินเวลานาน เพราะพวกเธอพูดมากเกินไป”

ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นที่เพ่งเล็งและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่น่าสนใจว่า Yoshiro Mori ไม่ได้มีท่าทีว่าจะลาออกทันทีที่มีกระแสต่อต้านเขา สิ่งที่เขากระทำหลังจากนั้น มีเพียงการกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสื่อมวลชนและถอนคำพูด ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะลาออก

การเหยียดเพศไม่ใช่ประเด็นบุคคล แต่เป็นปัญหาภาพใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น

ประเด็นของ Yoshiro Mori ที่เป็นกระแสขึ้นมาในครั้งนี้ก็ได้จุดประกายให้ทบทวนในเรื่องนี้ในเชิงลึกต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการแสดงทัศนะแบบเหยียดเพศของ Yoshiro Mori ก่อนหน้านี้

Mori โลดแล่นในวงการการเมืองมายาวนาน เคยดำรงตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น (ปี 2000-2001) 

ในปี 2009 เขาเคยหาเสียงโดยโจมตีผู้สมัครเพศหญิงว่าถูกเลือกเพียงเพราะรูปร่าง หน้าตา พร้อมทั้งเคยเตือนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่าเลือกเพียงเพราะความเยาว์วัยและความประทับใจที่มีต่อนักการเมืองเพศผู้หญิง

ที่น่าสนใจคือ เขายังสามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2012 และรวมถึงในปัจจุบันที่ยังคงดำรงตำแหน่งที่มีหน้ามีตาในสังคมอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

เมื่อพิจารณาความคิดเห็นที่มีต่อกรณี Yoshiro Mori ของระดับสูงในวงการการเมือง ท่าทีของพวกเขาต่างก็เผยให้เห็นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคม 

ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของ Toshihiro Nikai เลขาธิการทั่วไปของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (พรรคที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้) ซึ่งถือว่าเป็นเบอร์ 2 ของพรรค ที่กล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “กรณีนี้ไม่เป็นปัญหาที่จะให้ Mori เป็นประธานจัดการแข่งขันต่อไป เพราะเขาถอนคำพูดแล้ว” 

รวมถึงท่าทีของนายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga ที่แม้จะกล่าวว่าคำพูดของ Yoshiro Mori ขัดกับผลประโยชน์แห่งชาติ แต่เมื่อถูกถามต่อไปว่า Mori ควรลาออกหรือไม่ Suga เพียงให้ความเห็นว่านั่นเป็นการตัดสินใจของ Mori เอง 

ความเห็นของระดับสูงในวงการการเมืองญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตายในสายตาของชนชั้นนำทางการเมืองญี่ปุ่น และทัศนคตินี้เมื่ออยู่ในวงการเมืองระดับบนอย่างเหนียวแน่นก็ยิ่งทำให้การเหยียดเพศซึมลึกลงในโครงสร้างทางสังคม

TOKYO, JAPAN – SEPTEMBER 12: Japan’s Liberal Democratic Party’s leadership election candidate, Chief Cabinet Secretary Yoshihide Suga speaks during a debate ahead of the Liberal Democratic Party’s (LDP) leadership election on September 12, 2020 in Tokyo, Japan. The ruling party in Japan is set to vote on its new leader on September 14, and then use its majority in parliament to elect that person as the next prime minister on September 16, 2020. (Photo by Charly Triballeau – Pool/Getty Images)

ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “การเหยียดเพศ” ในญี่ปุ่น ไม่ใช่ความผิดพลาดของตัวบุคคล แต่เป็น การเหยียดเพศที่ซึมลึกอยู่ในสถาบันทางสังคม (Institutionalized sexism) เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าทัศนคติแบบเหยียดเพศไม่ได้เป็นคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ในสังคม 

ญี่ปุ่น เศรษฐกิจนำหน้า แต่อีกหลายเรื่องยังตามหลัง โดยเฉพาะเรื่องเพศ

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจากสถาบันชั้นนำทั้ง Goldman Sachs และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแก้ไขปัญหาการเหยียดเพศที่ซึมลึกในระดับสถาบัน พร้อมชี้ว่ามีงานวิจัยให้เห็นว่า ยิ่งประเทศมีความเท่าเทียมทางเพศสูง ก็จะยิ่งมีความสร้างสรรค์ มีผลิตภาพ และความมั่งคั่งที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ในหลากหลายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นถูกจัดเป็นประเทศชั้นนำ แต่ในตัวชี้วัดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศที่แย่ในระดับรั้งท้าย 

ดัชนีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ปี 2020 โดย World Economic Forum ญี่ปุ่นได้อันดับ 121 จาก 153 ประเทศ ตามหลังประเทศอื่นๆ เช่น

  • ฟิลิปปินส์ (อันดับ 15)
  • ซิมบับเว (อันดับ 47)
  • ไทย (อันดับ 75)
  • จีน (อันดับ 106)

ในการจัดอันดับ สัดส่วนของเพศหญิงในรัฐสภา ญี่ปุ่นได้อันดับ 166 ตามหลังประเทศปากีสถาน ลิเบีย หรือแม้แต่ซาอุดิอาระเบีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องการกีดกันทางเพศ

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Shinzo Abe
ภาพจาก Shutterstock

พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยพยายามจะชูประเด็นเรื่องการลดช่องหว่างระหว่างเพศหญิงและชาย โดยการผลักดันบทบาทผู้หญิงในการเมือง และโน้มน้าวบริษัทให้เพิ่มจำนวนสุภาพสตรีในตำแหน่งระดับบริหารตั้งแต่ปี 2001 ในสมัยของนายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi และนายกรัฐมนตรีคนต่อมาอย่าง Shinzo Abe ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้สุภาพสตรีได้เฉิดฉาย 

แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้กลับเป็นความพยายามที่เหมือนผักชีโรยหน้าของทั้งสองรัฐบาล ในสมัยของ Shinzo Abe มีสุภาพสตรีเป็นรัฐมนตรีเพียง 2 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 20 ตำแหน่ง และเธอยังมีอำนาจหน้าที่และบทบาทน้อยกว่า จนมีการวิพากษ์อย่างรุนแรงว่าเป็นได้เพียง “ไม้ประดับ”

ในภาคธุรกิจ ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตำแหน่งต่างๆ มากขึ้นถึง 70% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด แต่เมื่อพิจารณาดีๆ พวกเธอถูกตั้งในตำแหน่งงานที่ได้เงินน้อยกว่าและมีความมั่นคงต่ำกว่าผู้ชายทั้งสิ้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน มีสถิติที่ระบุว่า ช่วงโควิด-19 ผู้หญิงในญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียตำแหน่งงานมากกว่าผู้ชาย

ที่มา – Nikkei Asia, Japan Times (1) (2) (3)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน