ครม. มีมติเห็นชอบให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาล

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาลแล้ว หลังจากที่รัฐบาลใช้เวลาในการเลือกทางออกของการบินไทยหลากหลายทาง จนลงเอยด้วยวิธีนี้

Thai Airways การบินไทย
ภาพจาก Shutterstock

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ บมจ. การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาล หลังจากที่มีการหารือในเรื่องของแผนการฟื้นฟูระหว่างคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง รวมไปถึงตัวของการบินไทยเอง ซึ่งใช้เวลานานหลายสัปดาห์ และมีข้อวิพากย์จากประชาชน ก่อนในท้ายที่สุดรัฐบาลจะใช้วิธีข้างต้น

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และในการประชุมของคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาอย่างรัดกุมที่จะให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศาล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวเสริมว่า “การตัดสินใจให้ การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เพราะคำนึงถึงพนักงานและลูกจ้าง กว่า 20,000 ราย และไม่อยากให้การบินไทยมีสถานะล้มละลาย”

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังยอมรับว่าแผนการฟื้นฟูการบินไทยที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะต้องอิงกับข้อกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานและ พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ

ขั้นตอนการให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาลนั้น ศาลจะพิจารณาแต่งตั้งมืออาชีพ รวมถึง
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อบริหารจัดการฟื้นฟูการบินไทย โดยจะมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดในเรื่องกระบวนการฟื้นฟูให้กับประชาชน

ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวลือเกี่ยวกับการบินไทย เช่น เจ้าสัวเจริญ เจริญ สิริวัฒนภักดี สนใจซื้อหุ้นการบินไทย หรือแม้แต่มีผู้สนใจซื้อกิจการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ฯลฯ ส่งผลทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นจากการเก็งกำไรในข่าวดังกล่าว ก่อนที่การบินไทยจะออกมาปฎิเสธข่าวลือ

ขณะที่แผนการฟื้นฟูของการบินไทยเองก็ได้รับเสียงวิพากษ์จากประชาชนไม่น้อย เนื่องจากประชาชนมองว่าใช้เม็ดเงินมหาศาล นอกจากนี้ล่าสุดยังมีข้อเรียกร้องจากสหภาพการบินไทยที่ต้องการไม่ให้รัฐบาลขายหุ้นจำนวนหนึ่งออกมา เพื่อที่สถานะของการบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป

การบินไทย สายการบินแห่งชาติมีกำไรในปีสุดท้ายคือปี 2016 ที่ 15.14 ล้านบาท ก่อนที่จะขาดทุนเรื่อยมาจนถึง
ปี 2019 ที่ผ่านมาโดยขาดทุนมากถึง 12,017 ล้านบาท โดยการบินไทยให้เหตุผลมาจากเรื่องสงครามการค้า และการแข่งขันอุตสาหกรรมการบินจากคู่แข่ง

สำหรับงบไตรมาส 1 ของปีนี้นั้น การบินไทยได้ขอตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลื่อนการส่งงบประจำไตรมาสนี้ไปในเดือนสิงหาคม โดยให้เหตุผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่การบินไทยได้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า การบินไทยยังทำธุรกิจตามปกติ แม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมาย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ