ค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีมาตรการออกมาในเรื่องนี้
ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงการซื้อขายนั้นค่าเงินบาทของไทยได้แข็งค่าขึ้นไปถึง 30.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าสาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาจากการไหลเข้าของเม็ดเงินเพิ่มเติม หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- มุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติเกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่า แนะให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยง
- ภาคเอกชน “กกร.” กังวลเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำ วอนภาครัฐดูแลเงินบาทแข็งค่า-การส่งออก
อ้างอิงจากโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ มุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้กดดันการแข่งขันของผู้ส่งออก ถ้าหากค่าเงินบาทไทยหลุดกรอบในช่วง 30.5 บาท ก็มีโอกาสที่จะไปทดสอบที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องออกมาตรการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้
โดยที่ผ่านมามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ออกมาได้แก่
- ปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ
- รายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้เอเชียพลัสยังมีมุมมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกสอดคล้องกับ ING สถาบันการเงินจากเนเธอร์แลนด์ที่มองว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 กันยายนที่จะถึงนี้
ค่าเงินที่แข็งค่ามากขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างหนักเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าเงินที่อ่อนค่ากว่าได้ เช่น ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย ฯลฯ ถ้าหากส่งออกในสินค้าประเภทเดียวกัน โดย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามสถานการณ์นี้อยู่เช่นกัน
ที่มา – โพสต์ทูเดย์, บทวิเคราะห์จาก ING
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา