การบินไทย มีกำไรสุทธิ 9 เดือนแรก ปี 2021 ที่ 51,115 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ แต่สุดท้ายยังขาดทุนจากการดำเนินงาน 21,491 ล้านบาท เพราะมีรายได้รวมแค่ 14,990 ล้านบาท
การบินไทย ยังฟื้นกิจการกลับมาลำบาก
บมจ. การบินไทย เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2021 ว่า มีรายได้รวม 14,990 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดงลง 66.1% โดยมีรายได้จากค่าโดยสาร และค่าน้ำหนักส่วนเกินเพียง 2,529 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อน 29,819 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 92.2%
เนื่องจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง 93.9% ผ่านการระบาดของโรค COVID-19 และการปรับลดเที่ยวบินของบริษัท แม้จะมีรายได้จากการเช่าเหมาลำเพื่อขนส่งสินค้า และรายได้จากครัวการบินไทย แต่ทั้งคู่ไม่สามารถชดเชยรายได้จากตั๋วเครื่องบินที่ควรจะเป็นรายได้หลักของธุรกิจสายการบิน
ขณะเดียวกัน หากเจาะไปที่ค่าใช้จ่ายจะพบว่า ค่าน้ำมันเครื่องบินลดลง 75.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 2,933 ล้านบาท เป็น 8% ของค่าใช้จ่ายรวม ชี้ให้เห็นว่า การใช้เครื่องบินเพื่อส่งคน และส่งพัสดุของการบินไทยลดลงอย่างชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าน้ำมันเครื่องบินอยู่ที่ 29,194 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าน้ำมันเครื่องบินสูงสุด 3 อันดับแรกประกอบด้วย
- ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจําหน่าย 10,809 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน 7,715 ล้านบาท
- ค่าซ่อมแซม และซ่อมบํารุงอากาศยาน 4,133 ล้านบาท
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ยกเว้นค่าเช่าเครื่องบิน และอะไหล่ ที่เพิ่มขึ้นถึง 502% คิดเป็นมูลค่า 705 ล้านบาท เพราะการบินไทยต้องการเช่าเครื่องบินเพื่อเตรียมพร้อมกลับมาให้บริการหลังโรคบาดเริ่มทุเลา รวมถึงให้บริการอื่น ๆ เช่นส่งพัสดุ และเช่าเหมาลำ เป็นต้น
ขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
เมื่อนำรายได้รวม หักลบกับค่าใช้จ่าย บมจ. การบินไทย ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 21,491 ล้านบาท ส่วนข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ ประกอบด้วย
- มีผู้โดยสาร 8.2 แสนคน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 5.05 ล้านคน
- อัตราบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 13.9% น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 67%
- มีเครื่องบินที่ใช้ดําเนินงานถึงวันที่ 30 ก.ย. 103 ลำ เท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
- อัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเฉลี่ย 4.7 ชม./ลำ/วัน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 7 ชม./ลำ/วัน
แม้จะพยายามปรับตัวเช่น การเปิดภัตตาคาร อร่อยล้นฟ้า ไม่บินกฟินได้, การเปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชม และทดลองทําการบินด้วยเครื่องฝึกบินจําลอง (Flight Simulator) และมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff&Pie ไปทั่วประเทศ รวมถึงการขายทรัพย์สิน และหุ้นในธุรกิจอื่น ๆ ต่างไม่สามารถประคองธุรกิจให้เติบโต
มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่ธุรกิจ
ในทางกลับกัน บมจ. การบินไทย มีกำไรสุทธิ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 ที่ 51,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 203.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเหตุผลหลักมาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 60,730 ล้านบาท
สรุป
แม้จะมีกำไรสุทธิสูงถึง 51,115 ล้านบาท แต่หากเจาะลงไปจริง ๆ แล้ว กำไรสุทธิเหล่านั้นไม่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจหลัก เพราะ บมจ. การบินไทย ยังขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 21,000 ล้านบาท และธุรกิจการบินต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัวกลับมา
ดังนั้นคงต้องดูกันว่าหากทุกอย่างกลับมาปกติ การบินไทยจะยังสามารถแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ได้หรือไม่
อ่านข่าวเกี่ยวกับการบินไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่
- การบินไทยชี้แจงกับนักลงทุน อาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูกิจการนานสุดถึง 7 ปี
- แผนธุรกิจครัวการบินไทยปี 2021 เตรียมส่ง “น้ำพริกลงเรือ-ครัวซองต์-ปาท่องโก๋-ข้าวหมกไก่” ขายใน 7-Eleven
- การบินไทย 2564 ปรับลดสิทธิตั๋วฟรีพนักงาน เลิกให้ตั๋วฟรีผู้บริหาร
อ้างอิง // การบินไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา