หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงกว่า 90% มาตั้งแต่เมื่อไร และลูกหนี้กลุ่มไหนที่ต้องจับตา?

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจเห็นพาดหัวข่าวสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยจะทะยานสู่ 91% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงและสะท้อนว่าประชาชนอาจใช้ชีวิตกันแบบ ‘หืดขึ้นคอ’ ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจึงเป็นเรื่องระดับชาติ 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงเห็นข่าวหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้นแล้ว ว่าแต่หนี้ครัวเรือนของไทย ‘สูง’ มาตั้งแต่เมื่อไร 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 2555- 2566 (ณ ไตรมาส 3) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเคยขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 94.7% ในปี 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจหดตัว หลายคนยอมกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้

แต่ที่จริงแล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยทะลุ 80% มาตั้งแต่ปี 2556 ส่วนหนึ่งจากสินเชื่อขยายตัวเร็ว ต่อเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ไปสู่จุดสูงสุดของรอบนี้ที่ 85.9% แม้จะลดลงบ้างในบางช่วงและยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง กระทั่งเจอ COVID-19 เข้ามาซ้ำเติมจนปรับตัวสู่ระดับ 94.7% และทยอยปรับลงลง

หมายเหตุ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในประเทศพัฒนาแล้วมักอยู่ในระดับสูงเช่นกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ

ที่มา ธปท.

ล่าสุด ‘สุวรรณี เจษฎาศักดิ์’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ได้เล่าถึงแนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้น่าจะอยู่ราว 91% (ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80% ตาม BIS) 

ขณะเดียวกัน ในด้านหนี้เสียพบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) ในไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 492,800 ล้านบาท (คิดเป็น 2.66% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการกลับมาชำระคืนหนี้ แต่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต 

อีกทั้ง ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า การเปลี่ยนแปลงชั้นของลูกหนี้ในเดือน พ.ย. 66 เทียบกับไตรมาส 3/2566 เห็นภาพลูกหนี้ใน Stage 2 มากขึ้น (ค้างชำระเงินต้น เกิน 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน) โดยอาจพยายามเลี้ยงจ่ายค่างวดไว้เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสีย ขณะเดียวกันยังเห็นตัวเลขการเปลี่ยนแปลงลูกหนี้ชั้น SM (คนที่ค้างชำระเงินต้น 1 เดือนแต่ยังไม่ถึง 3 เดือน) ไปยัง Stage 2 ปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล

ที่มา บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร: NCB)

อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มเปราะบาง) แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิด NPL cliff รวมถึงยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น 

“ช่วงปี 2540 NPL เรา (ประเทศไทย) ไปถึง 47% แต่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเรามีประสบการณ์จากการเจอหนี้เสียในอดีต เราพยายามผลักมาตรการและปรับมาตรการตามสถานการณ์ ดังนั้นตอนที่เราถอดมาตรการ ซึ่งตลอดช่วง  COVID-19 ที่ผ่านมาเราดูแลให้ NPL ทรงตัวราว 2 ปลายๆ ไม่เกิน 3% เราคาดไว้แล้วว่า NPL จะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัว กลุ่มที่เปราะบาง ปัญหาด้านหนึ่งจึงเป็นเรื่องรายได้ เพราะการแก้หนี้มันจบด้วยหนี้ไม่ได้ มันต้องกลับมาที่รายได้” สุวรรณี กล่าว

ดังนั้นกลุ่มที่ธปท. ยังมีความกังวลอยู่คือ ผู้มีรายได้น้อย รายได้อิสระ หรืออย่างกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อธปท. ถอดถอนมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 จึงมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน และ Responsible Lending (RL) ต่อเนื่องเพื่อกำหนดให้ธนาคารต้องดูแลลูกหนี้ 

(สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน)

นอกจากนี้เรื่องที่ ธปท. ยังให้ความสำคัญคือ เรื่องสินเชื่อ SME ที่หดตัวลง ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิด COVID-19 นำสู่คำถามว่า SME อาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อหรือไม่ โดยปัจจุบันมีภาพที่ SME เข้าถึงสินเชื่อได้ แต่อาจเข้าถึงประเภทสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ดังนั้นเมื่อดูสินเชื่อใหม่ จะเห็นว่า​ขนาดของวงเงินสินเชื่อเล็กลงไปด้วย จึงสะท้อนว่าธนาคารระมัดระวังมากขึ้น ตามระดับความเสี่ยงที่สูงกว่ากลุ่มธุรกิจรายใหญ่ (ส่วนรายย่อย เมื่อสินเชื่อมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าจึงอาจครอบคลุมระดับความเสี่ยงแล้ว)

ดังนั้น ธปท. มองว่าสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ ประเด็นการถ่ายโอนความเสี่ยง และ Credit Garuntee เพื่อให้ SME เข้าถึงสินเชื่อได้ดียิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขพร้อมๆ กันในหลายภาคส่วน เพราะหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจฉุดรั้งการเติบโตของไทยในระยะยาวได้อีกด้วย 

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา